พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Saturday 15 December 2012

ท้าวอัมรินทร์

ประวัติ ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์)
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์
พระอินทร์เป็นตำแหน่งของพระราชาแห่งเทพทั้งปวง ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา
เรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์ เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพระอินทร์สมัยพุทธกาลเท่านั้น
 
อดีตชาติของพระอินทร์
ณ หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์
 
คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข
ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตน ฉะนั้นกรรมนี้ ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่
มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการและได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคนทั้งหลาย
ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยมมาสมัคร เป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้างสองโยชน์บ้าง
 
เมื่อประพฤติธรรม ย่อมไม่หวั่นภัยใด ๆ
ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกว่าสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด
ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน ช้างและตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา
พระราชาเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส
 
บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง
ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย
มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
วัตตบท ๗ ประการได้แก่
๑. เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต
 
ทรงมีหลายชื่อ
ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต
ท้าวมฆวาน - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
ท้าวปุรินททะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง
ท้าวสักกะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
ท้าววาสะ หรือวาสพ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก
ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา - ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
ท้าวสุชัมบดี - ทรงมีชายาชื่อสุชา
ท้าวเทวานมินทะ หรือพระอินทร์ - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์
 
ความเพียร
ในคราวที่สุวีวรเทวบุตรขอพรกับพระอินทร์ ว่าขอให้ตนได้เป็น "ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา"
พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า
"คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย"
ถึงกระนั้น สุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า "ขอพระองค์ได้โปรด ประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย"
พระอินทร์ตรัสว่า "ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้อง ทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย"
ขันติธรรม
ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับได้และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย
พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า "ทรงอดกลั้น ได้เพราะกลัว หรือว่า เพราะอ่อนแอ"
พระอินทร์ตรัสว่า "เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร"
พระมาตลีแย้งว่า "พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง"
พระอินทร์ "เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละ เป็นวิธีกำหราบพาล
พระมาตลีก็ยังแย้งว่า "ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่"
พระอินทร์ "พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลัง อดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอ ต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครอง ย่อมไม่โกรธตอบ
ผู้โกรธตอบผู้โกรธ หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย"
 
ความไม่โกรธ
ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ฆ่าความโกรธ"
ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่า น่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ
พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือ ท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้
คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา
จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และเทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยหวังผลคือ ความสุขของส่วนรวม
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ นับวันจะเลือนหายไปในสังคมไทยของเรา เพราะคิดแต่จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมฝรั่ง โดยหารู้ไม่ว่า ได้เพาะเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นแก่ตัว ความไร้คุณธรรม ลงไปในความอยากมีอยากเป็นตามกระแสของสังคมศิวิไลซ์ที่เน้นวัตถุนิยม
ฉะนั้น หากเราช่วยกันนำคุณธรรมที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยทำมาแล้ว ให้กลับคืนมา สังคมอันดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
-------------------------
อารามโรปา วนโรปา
เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ
เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ
สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ.
ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน
 
ข้อมูลจาก http://www.sil5.net

Sunday 9 December 2012

หลวงปู่ขาว อนาลโย

Imageพระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งสำนักวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ชื่อว่าเป็นเพชรน้ำเอก และเป็นศิษย์ต้นแห่งวงพระกรรมฐานสายพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

ท่านเป็นพระธุดงค์กรรมฐานที่มีจิตใจแข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น มีเมตตาธรรมเป็นเลิศ มีปัญญาธรรมที่เฉียบคม และเป็นพระอริยะเจ้าที่ทรงคุณธรรมอันบริสุทธิ์ดุจดังเพชรเม็ดงามประดับไว้ในพระพุทธศาสนา ที่หาจุดตำหนิหรือรอยมัวหมองไม่มี นับตั้งแต่ท่านสละเพศฆารวาส ออกบวช ตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิต ท่านละสังขารทิ้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เมื่อท่านอายุได้ ๙๖ ปี

หลวงปู่มั่น เคยเปิดเผยกับศิษย์ใกล้ชิดว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นศิษย์หนึ่งในจำนวนสององค์ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นกิเลส เข้าสู่สอุปาทิเสสนิพพาน ที่บ้านโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ในช่วงหลวงปู่มั่นยังดำรงขันธ์อยู่ แล้วเดินทางกลับไปโปรดลูกศิษย์ในภาคอีสาน ใช้ชีวิตพระธุดงค์อยู่ตามป่าเขา แสวงความวิเวกโปรดญาติโยมในภาคอีสานตอนบน แถบจังหวัดสกลนคร หนองคาย อุดรธานี และฝั่งประทศลาวอยู่หลายปี

หลวงปู่ขาว ธุดงค์ตามสันเขาภูพานมาถึงถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ในสมัยนั้น) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ก่อตั้งวัดถ้ำกลองเพลขึ้น พัฒนามาจนเป็นวัดกรรมฐานที่สำคัญ และท่านก็ได้พำนักประจำที่วัดแห่งนี้จนสิ้นอายุขัย


Image

 >> พญานาคที่ภูถ้ำค้อ  
หลวงปู่ขาว อนาลโย เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภูถ้ำค้อ ที่เกี่ยวกับลูกหลานพญานาค ดังต่อไปนี้

คืนหนึ่ง ในระหว่างที่หลวงปู่นั่งสมาธิภาวนา ได้เห็นในนิมิตว่าบรรดางูใหญ่งูเล็กหลายพันตัว พากันเลื้อยออกมาจากถ้ำเป็นขบวนยาวเหยียด

หลวงปู่ได้ถามในนิมิตว่า “จะไปไหนกันมากมายเช่นนี้ ?”

หัวหน้างูใหญ่ตอบว่า “พวกข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นภูมินาค”

หลวงปู่ถามซ้ำอีกว่า “จะพากันไปไหน ทำไมไม่อยู่ที่เดิมนี้ ?”

งูตอบว่า “จะไปที่ห้วยอีตุ้ม เพราะตั้งแต่พระคุณเจ้ามาอยู่ในถ้ำนี้แล้ว พวกข้าพเจ้าอยู่ยากกินยาก”

หลวงปู่จึงถามว่า “เพราะอะไร ?”

งูตอบว่า “เพราะพวกข้าพเจ้าอยู่สูงกว่าพระคุณเจ้าผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ทำให้ร้อนไปทั่วร่างกาย จึงขอลงไปอยู่ในที่ต่ำๆ จะได้ไม่เป็นบาป”

ในบรรดางูเหล่านั้นมีนาคหนุ่มตัวหนึ่งถูกมัดปาก โดยให้คาบก้อนหินอยู่ หลวงปู่เห็นว่าแปลกกว่านาคตัวอื่นๆ จึงถามหัวหน้าพวกเขาว่า “ทำไมจึงต้องมัดปากเขาไว้ด้วย ?”

หัวหน้าตอบว่า “มันดื้อมาก เกรงมันจะทำอันตรายพระคุณเจ้า”

หลังจากออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ได้ยกเรื่องของนาคมาพิจารณาโดยละเอียด ท่านบอกว่าเรื่องของนาคนี้ไม่มีบรรยายไว้ในตำราเล่มใด ถ้าหากไม่ปฏิบัติสมาธิให้ถึงขั้นแล้ว จะไม่เห็นได้เลย เป็นสนฺทิฏฐิโก คือรู้เห็นเฉพาะตนเท่านั้น



>> บทเพลงลูกสาวพญานาค
การจำพรรษาของหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ภูถ้ำค้อนั้น ท่านว่าได้ข้อธรรมอย่างมากเลยทีเดียว การพิจารณาค้นคว้าธรรมไม่ติดข้อง มีความรู้แปลกๆ หลายอย่าง รู้ทั้งเรื่องของโลกและรู้ทั้งเรื่องของโลกทิพย์

หลวงปู่เล่าว่า คืนหนึ่งท่านเข้าที่บำเพ็ญภาวนา จิตสงบ ปรากฎว่าตัวของท่านได้ลงไปถึงชั้นบาดาล

หลวงปู่ถามว่า “เมืองอะไร ?”

มีเสียงพูดขึ้นว่า “นี่คือบาดาลพิภพ เมืองนาค”

หลวงปู่บอกว่า ขณะนั้นเห็นตัวท่านเองยืนอยู่บนก้อนหินอยู่กลางน้ำ น้ำในเมืองบาดาลไม่เหมือนกับน้ำในเมืองมนุษย์ กล่าวคือน้ำในเมืองบาดาลน้ำจะไหลผ่านกัน เช่นสายหนึ่งไหลไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งจะไหลไปทางทิศใต้สลับกัน สายหนึ่งไหลไปทางตะวันออก อีกสายก็ไหลไปทางตะวันตก บางแห่งจะไหลเวียนขวากับเวียนซ้าย น่าแปลกประหลาดมาก

หลวงปู่เห็นก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง มีลักษณะสวยงามมาก มีสาวงามซึ่งเป็นลูกของพญานาคยืนนิ่งอยู่ เธอสวยงามมาก หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูราวกับนางฟ้าเทพธิดา แต่งตัวด้วยเครื่องทรงที่งดงามเหมือนในภาพที่วาดกัน

สาวน้อยหันหน้ามาทางหลวงปู่ เธอประนมมือและแสดงความคารวะ แล้วทำการร่ายรำพร้อมกับขับร้องเป็นเพลงว่า “อะหัง นะเม นะเม นะวะชาตินะวะ” หลวงปู่จำเนื้อเพลงได้ดี

ลูกศิษย์เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า เพลงของลูกสาวพญานาคมีความหมายว่าอย่างไร ท่านบอกว่าให้แปลเอาเอง

หลวงปู่เคยเล่าเรื่องนี้ถวายสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) สมเด็จฯ ท่านก็ไม่แปลให้ฟัง พระองค์ท่านอยากฟังหลวงปู่แปลมากกว่า จึงนิมนต์ให้หลวงปู่แปลให้ฟัง

หลวงปู่บอกว่า “ผมไม่ได้มหาเปรียญ ไม่ได้เรียนศึกษาจะแปลได้อย่างไร”

สมเด็จฯ ท่านว่า “หลวงปู่เรียนทางในไตรปิฎก ผมเรียนทางนอกทางตำรา”

หลวงปู่จึงยอมแปลให้ฟัง ท่านพูดว่า “พูดตามที่เป็นมา ไม่ใช่ตำราอะไรนะ อะหัง ก็แปลว่าเรา ชาติใหม่ของเราไม่มีอีกแล้ว มีชาติเดียวเท่านี้”

แล้วหลวงปู่ก็ยิ้มระรื่นตามนิสัยอารมณ์ดีของท่าน แล้วถามสมเด็จว่า “ผมแปลแบบบาลีโคก แบบนี้ถูกหรือไม่”

สมเด็จฯ ท่านตอบว่า “หลวงปู่แปลได้ถูกต้องแล้ว”


>>  เจ้าตัวยาวแห่งถ้ำผาผึ้ง
จากข้อเขียนของพระอาจารย์บวร พุทฺธญาโณ เขียนถึงธรรมชาติอันวิเศษมหัศจรรย์ของวัดถ้ำกลองเพล ดังนี้

วัดถ้ำกลองเพลนี้ มีจุดเด่นเป็นสง่าที่น่าสัมผัสทัศนาอยู่ ๓ แห่ง คือบริเวณถ้ำกลองเพล บริเวณถ้ำผาผึ้ง ลึกเข้ามาอีกหน่อย และบริเวณผาผึ้งอยู่สูงขึ้นไปบนสันเขาภูพาน
ทั้ง ๓ แห่งมีหินตั้งตระการตั้งตระหง่านเรียงรายเป็นทิวแถว มีทั้งก้อนสูงใหญ่ กลาง เล็ก สลับกันไปอย่างมากมาย มองดูแล้วเป็นธรรมชาติสบายตายิ่งนัก

ถ้ำผาผึ้ง อยู่ทางด้านทิศเหนือของผาผึ้งขึ้นไปประมาณสามร้อยเมตร โขดหินของผาผึ้งทางใต้เป็นลักษณะโพรง เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาค้างคาวน้อยใหญ่จำนวนมากมายนับแสนนับล้าน มันมาพักผ่อนนอนหลับ ณ ที่แห่งเดียวนี้เป็นประจำ

ส่วนสัตว์ที่เป็นเจ้าของถ้ำ อาศัยอยู่เป็นประจำเช่นกันก็ได้แก่ เจ้าตัวยาว ซึ่งเป็นงูเหลือมขนาดใหญ่มากนั่นเอง

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า มีวันหนึ่งพระอาจารย์จันทา ถาวโร ไปนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในบริเวณใต้ปากถ้ำนั้น เจ้าตัวยาวคงจะเสร็จจากหาอาหารแล้วกลับมาอยู่ที่ของมัน เลื้อยบ้างหยุดบ้างสลับกันไปเป็นระยะๆ ดูท่าจะอิ่มเต็มที

เมื่อเจ้าตัวยาวมาใกล้จะถึงปากถ้ำที่อาศัยของมัน มันเลื้อยทับกิ่งไม้ดังกร๊อบๆ สียงดังผิดปกติ เหมือนคนรากอะไรหนักๆ ผ่านไปตามกิ่งไม้ใบไม้แห้ง

พระอาจารย์จันทาออกจากสมาธิ คอยจับตาดู ก็เห็นงูเหลือมขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื้อยเข้ามาใกล้ พอใกล้จะถึงปากถ้ำ พระอาจารย์จันทา จึงพูดว่า “พอๆ หยุดให้ดูเสียก่อน อย่ารีบด่วนไป

เจ้าตัวยาวก็หยุดนิ่งให้พระท่านดู เมื่อเห็นได้ถนัดชัดเจนแล้ว พระอาจารย์จันทาเกิดความคิดอยากให้พระอีกรูปหนึ่งซึ่งภาวนาอีกที่หนึ่งใกล้ๆ กันนั้นได้ดูด้วย จึงพูดว่า “ถ้าได้เชือกมาผูกล่ามไว้คงจะได้ดูนานๆ”

เมื่อเจ้าตัวยาวได้ยินพระพูดเช่นนั้น มันก็แสดงอาการไม่พอใจ คือชูหัวขึ้นสูง และใช้หางตีพื้นดินแรงๆ หลายที แล้วก็รีบเลื้อยหายไปในโพรงที่อยู่ของมัน โดยไม่ออกมาให้พระอาจารย์จันทาได้เห็นอีกเลย

แสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้สามารถสัมผัสรู้ภาษาคนได้ มันจึงแสดงอาการไม่พอใจออกมา หรืออาจจะนึกติเตียนพระก็ได้ ดังนั้นพระอาจารย์จันทา และพระเณรในวัดจึงได้เพิ่มความระมัดระวังในการคิด การพูด และการกระทำมากยิ่งขึ้น



>> เทศน์อบรมเสือ
หลวงปู่ขาว อนาลโย เล่าเรื่องเกี่ยวกับเสือ ในช่วงที่ท่านพักจำพรรษาที่ดงหม้อทอง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ดังนี้

คืนหนึ่ง หลวงปู่กำลังให้อบรมกรรมฐานแก่พระที่จำพรรษาอยู่ด้วยสามสี่องค์ ก็ได้ยินเสียงนักเลงโตสามตัว ลายพาดกลอน ดังกระหึ่มๆ ขึ้นข้างๆ บริเวณที่พัก มันอยู่คนละด้านกัน ต่อจากนั้นพวกมันก็มาพบกัน ได้ยินเสียงคำรามขู่กันบ้าง เสียงกัดในลักษณะหยอกล้อกันบ้าง สักพักก็เงียบไป นึกว่าพวกมันไปกันแล้ว

ต่อมาได้ยินเสียงขู่เข็ญกัดกัน เล่นกันข้างๆ ที่พักนั่นเอง ดูมันจะใกล้กับที่พระนั่งภาวนาอยู่เรื่อยๆ ประมาณสามทุ่ม เจ้าป่าทั้งสามก็พากันมาหยอกล้ออยู่ใต้ถุนศาลา ที่พระกำลังนั่งสมาธิภาวนา ฟังธรรมจากหลวงปู่ อยู่ศาลาหลังเล็กๆ นั้น มีพื้นสูงเพียงเมตรกว่าเท่านั้นเอง โครงสร้างไม่ได้แข็งแรงอะไรเลย ปลูกพอได้อาศัยเท่านั้น เสือสามตัวส่งเสียงคำรามหยอกล้อกัดกันเล่นกันอยู่ใต้ถุนศาลาเล็กๆ นั้น ส่งเสียงรบกวนพระ โดยไม่สนใจอะไร ดูท่ามันจะสนุกกันใหญ่

หลวงปู่เห็นว่าไม่ควรปล่อยไว้เช่นนั้น จึงพูดเสียงดังลงไปว่า “เฮ้ย สามสหาย อย่าพากันส่งเสียงอื้ออึงนักซิ พระกำลังเทศน์และฟังธรรมกัน เดี๋ยวจะเป็นบาปตกนรกฉิบหายกันหมดนะ เดี๋ยวจะว่าไม่บอก ที่นี่ไม่ใช่ที่เอ็ดตะโรโฮเฮกัน จงพากันไปเที่ยวร้องครางที่อื่น ที่นี่เป็นวัดของพระ ที่ท่านชอบความสงบไม่เหมือนพวกแก รีบไปเสีย พากันไปร้องไปเล่นที่อื่นตามสบาย ไม่มีใครไปยุ่งกับพวกแกหรอก ที่นี่เป็นที่พระบำเพ็ญธรรม จึงห้ามไม่ให้พวกแกส่งเสียงอื้ออึง”

พอได้ยินเสียงหลวงปู่ร้องบอกไป พวกมันพาสงบเงียบอยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นอีกสักพัก ก็ได้ยินเสียงพวกมันเกี้ยวพาราสีกันซุบซิบเบาๆ อยู่ใต้ถุนศาลา คล้ายกับจะเตือนกันว่า “พวกเราอย่าส่งเสียงดังกันนักซิ พระท่านรำคาญ และร้องบอกลงมานั่นไงล่ะ ทำสียงเบาๆ หน่อยเถอะเพื่อน เดี๋ยวเป็นบาปขี้กลากขึ้นหัวนะ”

เสียงเสือหยุดไปพักหนึ่ง ต่อไปก็มีเสียงหยอกล้อกันอีกไม่ยอมไปไหน แต่เสียงค่อยกว่าตอนแรกๆ พวกมันหยอกล้อกันเล่นสนุก ตั้งแต่สามทุ่มจนถึงสองยาม บรรดาพระก็ตั้งใจทำสมาธิภาวนา แม้ใจไม่สงบนักก็ไม่กล้ากระดุกกระดิก กลัวเสือมันจะกัดเอา พอถึงหกทุ่ม การอบรมธรรมก็จบลง พวกเสือแยกกันเข้าป่าไป พระก็แยกกันกลับกุฏิ



>> ช้างใหญ่เข้ามาหากลางดึก 
หลวงปู่ขาวได้เล่าเหตุการณ์ระทึกใจเมื่อตอนอยู่เชียงใหม่ ดังนี้

คืนหนึ่งในระหว่างพรรษาเวลาดึกสงัด หลวงปู่นั่งภาวนาอยู่ในกุฏิหลังเล็กๆ ที่ชาวบ้านสร้างถวาย ปรากฏมีช้างใหญ่เชือกหนึ่ง เป็นช้างบ้านที่เจ้าของเขาปล่อยให้หากินตามลำพังในป่าแถบนั้น ซึ่งไม่ทราบว่ามันมาจากไหน เดินเข้ามาในบริเวณที่หลวงปู่พัก แล้วตรงเข้ามายังกุฏิของท่าน ด้านหลังกุฏิมีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งขวางอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้าถึงตัวหลวงปู่ได้ มันใช้งวงล้วงเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้งบนศีรษะของท่านที่กำลังนั่งภาวนาอยู่

เสียงสูดลมหายใจของมันดังฟูดฟาดๆ จนกลดมุ้งไหวไกวไปมา และพ่นลมเย็นไปถึงศีรษะของท่าน หลวงปู่นั่งนิ่งหลับตาบริกรรม พุทโธ-พุทโธ อยู่อย่างฝากจิตฝากใจ ฝากเป็นฝากตายกับพุทโธจริงๆ ไม่มีที่อิงอาศัยอื่น

ช้างใหญ่ยังยืนคุมเชิงอยู่อย่างนั้น โดยไม่หนีไปไหน นานๆ จะได้ยินเสียงลมหายใจ และสูดกลิ่นท่านอยู่นอกมุ้งกลดครั้งหนึ่ง แล้วก็เงียบไป มันทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาถึงสองชั่วโมงเศษ จากนั้นก็เดินเลี่ยงไปด้านตะวันตกของกุฏิ เอางวงล้วงเข้าไปในตะกร้ามะขามเปรี้ยวที่แขวนกับต้นไม้ ที่โยมเขาเอามาไว้ขัดฝาบาตร

เสียงมันเคี้ยวมะขามดังกร้วมๆ ด้วยความเอร็ดอร่อย หลวงปู่คะเนเอาว่า เมื่อเจ้าท้องใหญ่พุงโลกินมะขามในตะกร้าหมดแล้ว มันคงเดินมาที่กุฏิอีก คราวนี้อาจเข้าถึงตัวท่าน และอาจเข้าบดขยี้ท่านก็เป็นได้

หลวงปู่คิดว่าท่านน่าจะออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง มันคงรู้ภาษาคนดี เพราะมันอยู่กับคนมานาน มันคงจะยอมฟังคำพูดของท่าน “หากมันฝืนทะลึ่งพรวดพราดเข้ามาจะฆ่าเรา ก็ยอมตายเสียเท่านั้น”

หลวงปู่คิด “แม้เราจะไม่ออกไปพูดกับมัน เมื่อมันกินมะขามหมดแล้ว มันก็ต้องเข้ามาหาเราจนได้ ถ้ามันจะฆ่าเราก็ต้องตาย หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นเวลาที่ค่ำคืน ตาก็มองไม่เห็นทางอะไรด้วย”

ออกไปพูดกับช้างให้รู้เรื่อง

เมื่อหลวงปู่ตกลงใจอย่างนั้นแล้ว ก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้ด้านหน้า แล้วพูดกับช้างว่า“พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้อง น้องขอพูดด้วยเวลานี้”

พอช้างได้ยินเสียงหลวงปู่พูดด้วย มันยืนนิ่งไม่ไหวติง จากนี้ท่านก็เริ่มกล่าวคำหวานต่อไปว่า

“พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์ในบ้านนำมาเลี้ยงไว้เป็นเวลานาน จนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่าง ตลอดทั้งภาษามนุษย์ที่เขาพูดกัน และพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่าง ยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก

ดังนั้น พี่ชายควรจะรู้ธรรมเนียมและข้อปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการทำบางอย่าง แม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้ว เขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศีรษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาอาจฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้ อย่าลืมคำที่น้องสอนด้วยความเมตตาอย่างนี้”


ให้ช้างรับศีล ๕

หลวงปู่ได้แผ่เมตตาให้กับช้าง พร้อมทั้งพูดว่า

“ต่อไปนี้พี่ชายจงรับศีล ๕ น้องเป็นพระจะให้ศีล ๕ แก่พี่ชาย จงรักษาให้ดี เวลาตายไปจะได้ไปสู่ความสุข อย่างต่ำก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มีบุญมีคุณธรรมในใจ ยิ่งกว่านั้นก็ไปเกิดบนสวรรค์ หรือพรหมโลกสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

ดีกว่ามาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นเป็นช้างเป็นม้าให้เขาขับเฆี่ยนตี และขนไม้ขนฟืน ซึ่งเป็นความลำบากทรมาน จนตลอดวันตายก็ไม่ได้ปล่อยวางภาระหนัก ดังที่เป็นอยู่เวลานี้ พี่ชายจงตั้งใจฟัง และตั้งใจรับศีล ๕ ด้วยเจตนาจริงๆ น้องจะบอกให้ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ปาณาฯ อย่าฆ่าคนฆ่าสัตว์ให้เขาตายด้วยกำลังของตน และอย่าเบียดเบียนคนและสัตว์ด้วยกันมันเป็นบาป

ข้อสอง อทินนาฯ อย่าลักขโมยของที่มีเจ้าของหวงแหน เช่นมะขามที่พี่ชายเคี้ยวอยู่เมื่อกี้นี้ คนเขาเอามาให้น้องไว้ขัดฝาบาตร แต่น้องไม่ให้พี่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรหรอก เพียงบอกให้ทราบว่าเป็นของมีเจ้าของ ถ้าเขาไม่ให้อย่ากิน อย่าเหยียบย่ำทำลายมันเป็นบาป

ข้อสาม กาเมฯ อย่าเสพสัตว์ที่เขามีเจ้าของหวงแหน มันเป็นบาป ถ้าเสพก็เสพเฉพาะสัตว์ตัวไม่มีคู่ ไม่มีเจ้าของ จึงไม่เป็นบาป

ข้อสี่ มุสาฯ อย่าโกหกหลอกลวง กริยาแสดงออกต้องตรงต่อความจริง อย่าแสดงเป็นกริยาหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ มันเป็นบาป

ข้อห้า สุราฯ อย่ากินของมึนเมามีสุราเมรัยเป็นต้น กินแล้วเป็นบาป ตายไปตกนรกทุกข์ทรมานเป็นเวลานานตั้งกัปตั้งกัลป์ กว่าจะหมดกรรมขึ้นจากนรกแม้พ้นนรกขึ้นมาแล้ว ยังมีเศษกรรมชั่วติดตัวขึ้นมาอีก มาเสวยชาติเป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์เดรัจฉาน ทรมานตามวิบากของตนที่เคยทำมา กว่าจะได้มาเกิดเป็นคนจึงแสนลำบาก เพราะกรรมชั่วกดถ่วงไว้

ถ้าเรารักษาศีล ๕ คืองดเว้นจากโทษ ๕ ประการดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อจุติกายทำลายขันธ์ไป ก็จะมีสวรรค์เป็นที่ไปสู่สุคติ อันเป็นความหวังหลังจากได้สร้างบุญกรรมเอาไว้ เมื่อถึงคราวจุติจากสวรรค์ ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ รูปสวยรวยทรัพย์ แล้วก็ได้สร้างบารมีใหม่อีกต่อไปจนได้มรรคได้ผล เข้าสู่นิพพาน”



>> เผชิญช้างที่ป่าแม่ปาง 
หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวน ได้ไปพักภาวนาในป่าแห่งหนึ่ง เรียกว่าบ้านแม่ปาง อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง ก็มีเหตุผจญภัยกับช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

หลวงปู่เล่าว่า พอผ่านเรื่องช้างจากคราวนั้นแล้วไม่นาน ก็ไปเจอช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่แม่ปาง จังหวัดลำปาง คราวนี้เป็นช้างป่าจริงๆ ไม่ใช่ช้างบ้านที่เขาเลี้ยงไว้เหมือนกับคราวก่อน

เหตุการณ์เกิดในตอนกลางคืน ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงสัตว์ใหญ่คือช้างบุกเข้ามา เสียงไม้หักปึงปังมาตลอดทาง เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่ามันจะต้องมุ่งโฉมหน้ามาทางที่ท่านอยู่อย่างแน่นอน

เสียงช้างใกล้เข้ามาทุกที ยามกลางคืนดึกดื่นเช่นนั้นไม่รู้ว่าจะหลบหลีกไปทางไหนได้ทัน พลันได้คิดว่าช้างป่าทั้งหลายกลัวแสงไฟ จะก่อกองไฟก็ทำไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย (อาจทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยตายได้ แม้แต่ขุดดิน ถางหญ้า เด็ดใบไม้ ดอกไม้ เก็บผลไม้ ตัดต้นไม้ ก็ทำไม่ได้เช่นกัน)

เผอิญช่วงนั้นมีคณะทหารมากราบหลวงปู่ แล้วได้ถวายเทียนไขท่านไว้จำนวนหนึ่ง หลวงปู่รีบออกจากทางเดินจงกรม ไปเอาเทียนไขที่อยู่ในกุฏิที่พักมาทั้งหมด มาจุดแล้วเอาไปปักเรียงรายตามทางเดินจงกรม สายตาคนเรามองดูแล้วสว่างไสว แต่ช้างจะมองเห็นในแง่ไหนเราไม่ทราบได้

ช้างมาประชิดตัว

พอหลวงปู่จุดเทียนปักไว้เสร็จเท่านั้น ช้างก็มาถึงพอดี ท่านไม่มีทางหลบหลีกปลีกตัว ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ช้างใหญ่ตัวนี้ทำอันตรายแก่ข้าพระพุทธเจ้าได้

พออธิษฐานจบ ช้างก็เข้าประชิดทางจงกรมพอดี มันหยุดยืนกางหูผึ่งอยู่ ไม่กระดุกกระดิกอวัยวะส่วนใดๆ อยู่ข้างทางเดินจงกรม ห่างจากหลวงปู่เพียงวาเศษ ท่ามกลางแสงเทียนไฟสว่างไสว ตามแนวทางเดิน ทำให้มองเห็นช้างได้ถนัดชัดเจน

หลวงปู่ท่านว่า ความรู้สึกบอกว่าช้างนั้นตัวใหญ่เท่าภูเขาลูกย่อมๆ นี่เอง ท่านเพียงชำเรืองหางตาดูมัน แล้วข่มใจเดินจงกรมไปมาไม่ แสดงท่าทางสนใจมันเลย ทั้งที่ใจจริงแล้วนึกกลัวมันเต็มที่ ท่านบอกว่าใจเหมือนกับจะขาดลมหายใจไปแล้ว ตั้งแต่เห็นช้างตัวใหญ่เดินรี่เข้ามาหาอย่างผึ่งผายตั้งแต่ทีแรก

หลวงปู่เดินจงกรมไปมา กำหนดคำบริกรรมว่าพุท-โธ อย่างถี่ยิบ ไม่กล้าส่งใจไปนอกตัว มีความรู้สึกที่เกี่ยวพันกับองค์พุทโธอย่างเหนียวแน่น ที่น้อมระลึกมาเป็นองค์ประกันชีวิตเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ได้นึกถึงอะไรเลย

แม้ช้างตัวที่ใหญ่โตเท่าภูเขาทั้งลูกมายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรม ท่านก็ไม่ยอมส่งจิตออกไปหามัน กลัวจิตจะพรากจากพุทโธซึ่งเป็นองค์สรณะ คือที่พึ่งอันประเสริฐสุดในเวลานั้น

เกิดความกล้าอย่างประหลาด

หลวงปู่เดินจงกรมไปมา พุทโธกับจิตกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนใจหายกลัว เหลือแต่ความรู้กับคำบริกรรมพุทโธ ซึ่งกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ช้างยังคงยืนคุมเชิงหลวงปู่อยู่ ราวกับภูเขาไม่ยอมกระดุกกระดิกตัว ท่านชำเรืองหางตาดูเห็นหูมันกางผึ่งราวกับจะแผ่เมตตาให้ก็ไม่ยอมรับ เท่าที่เห็นมันเดินเข้ามาหาท่านทีแรก เหมือนดังจะเข้ามาขยี้ขยำท่าน อย่างไม่รีรอแม้ชั่ววินาทีหนึ่งเลย

แต่ขณะนั้นมันกลับยืนตัวแข็งทื่อราวกับสัตว์ไม่มีหัวใจ พอจิตกับพุทโธเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ท่านก็หายกลัวแถมเกิดความกล้าหาญขึ้นมาอย่างประหลาด สามารถเดินไปหามันอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ท่านมาคิดอีกแง่หนึ่งว่า การเดินเข้าไปหาช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย อาจเป็นฐานะแห่งความประมาทอวดดีก็ได้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ

หลวงปู่จึงยังเดินจงกรมไปตามปกติ แข่งกับการยืนของช้างอย่างองอาจกล้าหาญ ราวกับไม่มีภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ณ ที่นั้น

นับแต่ขณะช้างป่าตัวนั้นเดินเข้ามายืนอยู่ที่นั่น เป็นเวลาชั่วโมงเศษๆ ไฟเทียนไขชนิดยาวๆ ที่จุดไว้บางเล่ม ก็เหลือสั้นจวนจะหมด ยังมีเปลวเทียนแสงริบรี่เท่านั้น

พลันช้างหันหลังกลับไปทางเดิมที่มันมา และเที่ยวหากินแถบบริเวณนั้น เสียงหักกิ่งไม้กินเป็นอาหารดังสนั่นป่าทีเดียว

เชื่อมั่นในจิตกับพุทโธ

หลวงปู่ขาวได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต และความอัศจรรย์ของพุทโธ อย่างประจักษ์ใจในคราวนั้น เพราะเป็นคราวขับขันจริงๆ ไม่สามารถหลบหลีกปลีกตัวไปที่ไหนให้พ้นได้ นอกจากต้องสู้ด้วยวิธีนั้นเท่านั้น แม้ตายก็ยอมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

นับแต่เหตุการณ์นั้นมา ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าจิตกับพุทโธได้เข้ามาสนิทสนมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักธรรมชาติแล้ว ไม่มีอะไรสามารถทำอันตรายได้อย่างแน่นอน นี่เป็นความเชื่ออย่างสนิทใจของหลวงปู่ตลอดมา

หลวงปู่บอกว่าช้างตัวนั้นก็เป็นช้างที่แปลกอยู่มาก เวลาเข้ามาถึงที่นั่นแล้ว แทนที่จะแสดงอาการอย่างไรก็ไม่แสดง คงยืนนิ่งหูกางอย่างสงบ เฝ้าดูท่านเดินจงกรมกลับไปกลับมาอย่างไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย พอดูเต็มตาและเต็มที่แล้วก็หันหลังกลับทางเก่า แล้วเที่ยวหากินไปตามประสาของมัน และหายเงียบไปเลย มันเป็นสัตว์ที่น่ารักอีกตัวสำหรับท่าน

หลวงปู่บอกอีกว่า ช้างตัวนี้น่ารักไม่แพ้ตัวที่มากินมะขามเปรี้ยว ตัวนั้นเป็นสัตว์บ้านที่รู้ภาษาคนได้ดี ส่วนตัวหลังนี้เป็นสัตว์ป่ามาแต่กำเนิด อายุคงไม่ต่ำกว่าร้อยปี ไม่อาจรู้ภาษาคนได้ ท่านจึงไม่ได้พูดอะไรกับมัน เป็นแต่เดินจงกรมเฉยอยู่อย่างนั้น

ช้างเทพบันดาล

ช้างตัวหลังที่มาหาหลวงปู่นั้นไม่มีลูกพรวนแขวนคอ และไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นช้างบ้าน ทั้งชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นช้างป่า และเคยเป็นนายโขลงมานาน เฉพาะคราวนี้ทำไมจึงแตกโขลงมาเที่ยวแต่ตัวเดียวก็ไม่ทราบ อาจจะพรากจากโขลงมาชั่วคราวก็ได้

แม้ช้างตัวนั้นหนีไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังเดินจงกรมต่อไป ด้วยความอัศจรรย์ใจ และเห็นคุณค่าของช้างตัวนั้นที่มาช่วยให้จิตท่านได้เห็นความอัศจรรย์ในธรรมเกี่ยวกับความกลัวความกล้า ช้างตัวนี้มาช่วยเสริมให้รู้เรื่องนี้ได้อย่างประจักษ์ใจ หมดทางสงสัย

ช้างตัวนั้นจึงเหมือนช้างเทวบุตรหรือช้างเทพบันดาลก็ไม่น่าจะผิด เพราะธรรมดาช้างในป่า ซึ่งไม่คุ้นเคยและให้อภัยแก่ผู้ใด นอกจากมันจะสู้ไม่ไหวจริงๆ แล้ว จึงรีบวิ่งหนีเอาตัวรอดเท่านั้น แต่ช้างตัวนี้ตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าเข้าหาหลวงปู่ด้วยตัวของมันเอง มิได้ถูกบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีใดๆ หรือจากผู้ใด มันเดินตรงเข้ามาหาหลวงปู่ทั้งที่ไฟก็สว่างอยู่รอบด้าน แทนที่มันจะตรงเข้าขยี้ขยำร่างของท่านด้วยกำลังของมัน กลับไม่ทำ หรือแทนที่จะตกใจกลัวไฟรีบหนีเข้าป่า ก็ไม่ไป กลับเดินอย่างองอาจเข้าหาหลวงปู่ พอมาถึงกลับยืนดูหลวงปู่เดินจงกรมไปมาเป็นเวลาตั้งชั่วโมงเศษๆ แล้วมันก็หันหลังกลับไป โดยไม่แสดงอาการกล้าหรือกลัวใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าพิศวงมาก

จากคราวนั้นมาไม่ว่าหลวงปู่จะไปหรือพักที่ใด ก็ไม่คิดกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อธรรมอย่างถึงใจแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สมกับธรรมในบทที่ว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้ตายจมดินจมน้ำแบบขอนซุงแน่นอน



>> อาสาไปเจรจากับช้าง
หลวงปู่ขาวออกเดินทางไปสมทบกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ในที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเท่าใดนัก เพื่อร่วมเดินทางไปวิเวกยังสถานที่แห่งหนึ่งชื่อบ้านแม่กะตำ เมื่อคณะพระธุดงค์เดินไปถึงช่องเขาแห่งหนึ่ง ก็เจอช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนกินใบไผ่ขวางทางอยู่ตรงช่องเขานั้นพอดี และเป็นทางเดียวที่จะเดินผ่านไปได้ ถ้าไปทางอื่นต้องปีนเขาสูง ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ทางนี้จึงเป็นทางลัดที่สุดที่จะไปบ้านแม่กะตำได้

หลวงปู่มั่นจึงปรึกษากับศิษย์ว่าจะทำอย่างไร พระรูปหนึ่งอาสาไปตามชาวเขาที่อยู่แถวนั้นให้มาช่วยไล่ช้างให้หลีกทางให้

ชาวเขาเหล่านั้นปฏิเสธว่า “ฮึฮึ ขะเจ้าก็กลัวตายเหมือนกัน นิมนต์ตุ๊เจ้าไล่เองเถิด”

หลวงปู่ขาวจึงอาสาไปขอเจรจากับช้าง เพราะท่านเคยผจญกับช้างมาหลายครั้งแล้ว น่าจะพูดกันรู้เรื่อง

หลวงปู่มั่น จึงบอกว่า “เอ้อ ยังนั้นก็ลองไปดู”

ช้างกำลังกินใบไผ่และหันหลังให้พระ หลวงปู่ขาวได้เพ่งจิตแผ่เมตตาให้ช้าง แล้วพูดกับช้างว่า

“ดูก่อนพี่ชาย พ่อมหาจำเริญ ผู้มีกำลังมหาศาล ทั้งสังขารร่างกายก็อ้วนพีดีงาม ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีกำลังวังชาเพียงเล็กน้อย ทั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่ได้คิดมุ่งร้ายหมายขวัญต่อใครทั้งหมด ขอพี่ชายผู้มีกำลังมหาศาล จงได้หลีกทางให้พวกข้าพเจ้าผู้น้อยเดินทางไปด้วยเถิด”

ช้างหันหน้ามาทางหลวงปู่ขาวขยับหูดังพึบพับ แล้วเดินหลบไปข้างทาง เอางาซุกไว้กับกอไผ่สงบนิ่งอยู่ ราวกับจะร้องบอกนิมนต์ว่า “ตุ๊เจ้าไปเถิด”

หลวงปู่มั่นเห็นเช่นก็บอกพระลูกศิษย์ว่า “ไปได้ ไปได้ ไปได้แล้ว”

พระทุกองค์จึงเดินเรียงแถวผ่านช้างไปได้อย่างปลอดภัย

พระอาจารย์มนู เดินรั้งท้ายสุด ปกติท่านกลัวช้างมากอยู่แล้ว บังเอิญตะขอกลดของท่านเกิดไปเกี่ยวอยู่กับกิ่งไผ่ข้างทาง ท่านคิดว่าช้างมันดึงเอาไว้ ไม่กล้าเหลียวหลังไปมอง

อาจารย์มนูออกแรงกระชากติดๆ กันหลายครั้ง ตะขอก็ไม่หลุด ท่านยิ่งกลัวหนัก จะร้องให้พระองค์อื่นช่วยก็กลัวจะถูกหลวงปู่มั่นตำหนิเอา เพราะพระอาจารย์ท่านไม่ชอบพระธุดงค์ขี้ขลาด ท่านจะว่าเอาแรงๆ

หลวงปู่บอกว่า พระอาจารย์มนูกลัวช้างถึงกับปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว ท่านจึงตัดสินใจกระชากกลดเต็มที่ ตะขอหลุด ท่านถึงกับล้มคะมำไปข้างหน้า ท่านหันไปมองข้างหลังเห็นช้างใหญ่ยังยืนสงบนิ่งอยู่ที่เดิม ตะขอไปเกี่ยวกับกิ่งไผ่ต่างหาก

พระอาจารย์มนูถึงกับละอายใจตัวเอง รีบลุกขึ้นแล้วเดินตามคณะพระธุดงค์ไป ภายหลังได้เล่าให้หมู่พวกที่ร่วมเดินทางได้ฟังกันอย่างขบขันยิ่ง




>> ช้างปู่หลุบภูพาน
ในประวัติของหลวงปู่ขาว อนาลโย มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบรรดาช้างเสืออยู่เสมอ ตั้งแต่ครั้งที่ท่านอยู่เชียงใหม่จนถึงขณะอยู่ถ้ำกลองเพล

หลวงปู่เล่าว่า ตอนมาอยู่ถ้ำกลองเพลใหม่ๆ นั้น สถานที่นี้เต็มไปด้วยป่าดงดิบหนาทึบเลยทีเดียว ในเวลากลางดึกสงัด จะมีช้างเป็นฝูงๆ มาเดินเพ่นพ่านอยู่บริเวณวัด ฝูงละ ๑๑ ตัว ๗ ตัว ๕ ตัว ๓ ตัว โดยไม่เกรงกลัวผู้ใด

หลวงปู่เล่าว่า ในคืนวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนหนึ่งมีช้างใหญ่เชือกหนึ่งมาไหว้พระอยู่หลังถ้ำทางด้านทิศเหนือ หลังจากพระท่านทำวัตรเสร็จแล้ว ช้างเชือกนั้นก็กลับออกไปทางทางทิศตะวันออกของถ้ำ เพื่อหากินตามประสาของมัน

ช้างเชือกนั้นเดินออกจากวัดไปถึงบ้านนายอ้อง-นางกี่ เป็นบ้านที่สร้างในลักษณะเพิงหมาแหงน ตั้งอยู่หลังเดียวในป่าบริเวณนั้น

ปรากฏว่า หมาของนายอ้องวิ่งออกจากบ้านมาเห่าช้างเสียงดังไม่ยอมหยุด จนนายอ้องเกิดรำคราญ จึงหยิบปืนแก๊ปเดินออกจากบ้าน มองไปตามเสียงหมาเห่า มองเห็นช้างตัวใหญ่มาแถวนั้นโดยลำพังตัวเดียว จึงยกปืนขึ้นยิงออกไป พร้อมตะโกนออกไปว่า “มึงมาทางนี้ทำไม เดี๋ยวก็ถูกปืนยิงหรอก อ้ายใจน้อยตาน้อยหูใหญ่ หนีไปอย่าเข้ามาในเขตนั้น”

ช้างก็หนีไป ซึ่งหลวงปู่บอกว่ามันคงเจ็บใจและผูกอาฆาต

หลังจากนั้นสองสามวัน นางกี่ภรรยานายอ้องแกไปธุระที่บ้านโนนทัน ขากลับได้หาบข้าวเปลือกมาด้วย พร้อมกับลูกสาวตัวเล็กเดินมาด้วยหนึ่งคน

ในระหว่างทางนางกี่ก็พบช้างใหญ่ตัวนั้น มันแผดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว งวงถอนเอาต้นกล้วยบริเวณนั้นแล้ววิ่งใส่เอาต้นกล้วยไล่ตีนางกี่

นางกี่ทิ้งหาบข้าวเปลือก รีบกระชากมือลูกสาววิ่งหนีสุดฤทธิ์ ช้างก็วิ่งไล่ตามไม่ลดละ นางไปพบขอนไม้ใหญ่ล้มอยู่ จึงพาลูกสาวไปหลบอยู่ข้างขอนไม้นั้น

ทีแรกช้างวิ่งเลยไป พอมองเห็นมันก็วิ่งกลับมา นางกี่และลูกน้อยสุดที่จะหนีได้ทัน ช้างใช้งวงฟาดกระหน่ำไปที่ขอนไม้ พร้อมทั้งใช้เท้ากระทืบจนหนำใจ แล้วจึงหนีไป

ชาวบ้านได้ออกมาช่วยเหลือ พบว่านางกี่นอนหายใจระรวยอยู่ใต้ขอนไม้ แกไม่ตายแต่ลูกน้อยแบนอยู่ ณ ที่นั้น ยังความสลดสังเวชแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก
หลวงปู่เล่าถึงช้างเชือกนั้นว่า “มันสำคัญเป็นช้างของพี่ปู่หลุบพาน” (เจ้าพ่อปู่หลุบ แห่งเทือกเขาภูพาน) มันสามารถฟังรู้สำเนียงคนพูดได้เข้าใจ หากใครไปด่าว่าท้าทาย หรือพูดว่ามันให้เสียๆ หายๆ มันจะคอยทำอันตรายเอาจนสมใจแค้นเลยทีเดียว

ตรงกันข้าม ถ้าใครพูดดี พูดไพเราะเสนาะโสต มันก็ไม่เข้ามารบกวน เช่นพูดว่า “พ่อตู้พ่อตา (ปู่หรือตา) อย่ามาทำอันตรายหรือรบกวนบรรดาลูกหลานเลย ลูกหลานขอทำไร่ทำสวน เพื่อยังชีพลูกพร้อมทั้งเอาไปทำบุญทำทาน จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ชาติหน้าจะได้ไปเกิดในชั้นสวรรค์ต่อไป”


ถ้าพูดอย่างนี้ ช้างเชือกนั้นจะไม่มาทำอันตรายแต่ประการใด พร้อมทั้งหลบหลีกเปิดทางให้หรือเดินจากไปโดยไม่มายุ่งเกี่ยวเลย




>> กระต่ายน้อยร่วมเดินจงกรม
หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เล่าเรื่องที่ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ที่บ้านปู่พระยา ดอยมูเซอร์ ว่า วันหนึ่ง หลวงปู่ลงไปเดินจงกรมในเวลาพลบค่ำ ไม่ได้จุดโคมไฟแต่อย่างใด พอเดินไปสักครู่ ก็รู้สึกว่ามีสัตว์อะไรอย่างหนึ่ง มากระทบเข้ากับเท้าของท่าน ท่านไม่ได้ให้ความสนใจ ยังเดินจงกรมตามปกติ

ต่อมาอีกประเดี๋ยว สัตว์นั้นก็มากระทบเท้าของท่านอีก ท่านก็บอกด้วยความเมตตาว่า “ระวังหนา ระวังหนา เดี๋ยวเรามองไม่เห็น เราจะเหยียบเจ้าหนา จะหาว่าเราไม่เตือน”

เมื่อสัตว์นั้นมากระทบเท้าท่านหลายครั้งเข้า จึงเอะใจว่า “เอ๊ะ ! มันอะไรกันแน่นะ”

หลวงปู่จึงเดินไปจุดโคมไฟขึ้น จึงเห็นเป็นเจ้าเชี่ยงเมี่ยง (กระต่ายน้อย)

หลวงปู่ถามด้วยความเมตตาว่า “เจ้ามาเดินจงกรมกับเราหรือ” ดูท่าทางมันน่ารักน่าเอ็นดู แสดงอาการตอบรับด้วยการยกเท้าหน้าทั้งสองขึ้น คล้ายกับประนมมือไหว้ หูทั้งสองข้างลู่ไปตามลำตัวอย่างน่าสงสาร มันไม่กลัวหลวงปู่เลย

หลวงปู่พูดกับเจ้าเชียงเมี่ยงน้อยว่า “เจ้านี่ก็ดูดีกว่ามนุษย์บางคนอีกหนอ มาหัดเดินจงกรมกับเรา มนุษย์เขาว่าใจสูง เขาว่าเขาเก่งแล้ว แต่เขาก็สู้เจ้าไม่ได้ เพราะบางคนเดินเป็น แต่เดินจงกรมภาวนาไม่เป็น”

หลังจากฟังหลวงปู่พูดแล้ว กระต่ายน้อยก็กระโดดออกจากทางเดินจงกรม ไปเล็มหญ้าหากินตามประสาของมัน

คืนต่อๆ มา เจ้ากระต่ายน้อยก็กระโดดออกจากทางเดินจงกรม กับหลวงปู่เป็นประจำ ดูมันมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้กับหลวงปู่

สมณานัญจะ ทัสสะนัง การได้เห็นสมณผู้สงบ ผู้สะอาด ผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ผู้ทรงไว้ด้วยเมตตาธรรม นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง เอตัมมัง คะละมุตตะมังฯ




>> พิจารณาธรรมจากนกแซงแซว
เมื่อออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระภิกษุแต่ละรูปต่างแยกย้ายกันวิเวกไปคนละทิศละทาง ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านวิเวกไปทางเมืองพร้าว ส่วนหลวงปู่ขาวเองก็มุ่งเข้าป่าดงพงไพรในเขตอำเภอพร้าวนั้น แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นที่ใด

เมื่อหลวงปู่ขาวไปถึงป่าที่กว้างใหญ่แห่งหนึ่ง ท่านได้นั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ข้างบนมีรังนกแซงแซวอยู่รังหนึ่ง มีแม่นกเฝ้ารังอยู่ พร้อมด้วยลูกน้อย ๒ ตัว สักพักหนึ่งพ่อนกก็บินกลับมาจากหาอาหาร เพื่อเลี้ยงดูลูกเมียของมัน ดูไปแล้วก็เหมือนมนุษย์เรา

หลวงปู่เล่าว่า นกตัวเมียเกิดระแวง สงสัยว่านกตัวผู้ไม่ซื่อสัตย์เพราะกลับมาช้าผิดปกติ คงแอบไปเชยชมกับนกตัวใหม่ พอนกตัวผู้มาถึงรัง นกตัวเมียทำท่าโกรธ รีบกระโดดออกจากรัง ขยับปีกเสียงดังเฟี้ยวๆ ดูคล้ายผู้หญิงที่หึงสามีจนตัวสั่น แล้วก็ด่าว่านกตัวผู้ด้วยเสียงดังว่า “ห่ากินมึง ผีกินมึง” พูดซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น

นกตัวผู้พยายามส่งเสียงอธิบายว่า “พี่กลับมาช้า เพราะวันนี้หาอาหารได้ยากเหลือเกิน”

นกตัวตัวเมียไม่ยอมฟัง ส่งเสียงดังว่า “อย่า อย่ามาแก้ตัวนะ” แล้วก็ด่าว่า “ห่ากินมึง ผีกินมึง ห่ากินตับกินปอดมึง” ด่าซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

นกตัวผู้สุดจะอดทน ขยับปีกเข้าใกล้ แล้วด่ากลับคืนว่า “อีจองหอง อีจองหอง”

ต่างตัวต่างด่ากันถี่ยิบ ไม่มีใครฟังใคร

หลังจากนั้นนกทั้งสองตัวก็จิกตีกันถึงขั้นตะลุมบอน ทั้งส่งเสียงจากปาก และขยับปีกตีกัน จิกกันดูวุ่นวายไปหมด

หลวงปู่เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็รู้สึกขบขันทั้งปลงสังเวช นี่แหละหนอกิเลส ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์

เมื่อสงครามเกิดขึ้นสักพัก ตัวเมียสู้กำลังนกตัวผู้ไม่ได้ ก็บินหนีทิ้งรังไป ปล่อยให้ลูกน้อยทั้งสองส่งเสียงร้องด้วยความหิว

ฝ่ายนกตัวผู้ดูท่าจะโมโหจนลืมตัว ตรงเข้าจิกตีลูกน้อยทั้งสอง จนร่วงตกลงมาใกล้กับที่หลวงปู่นั่งอยู่ ทั้งพ่อนกแม่นกต่างก็บินหนีไปคนละทิศละทาง ปล่อยให้ลูกน้อยที่ยังไม่มีปีกมีขนหล่นตกลงมาที่พื้นดิน

หลวงปู่ก็เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับนกแซงแซวที่ท่านพบเห็นมาเพียงแค่นี้ ในบันทึกก็ไม่ได้พูดต่อว่าเป็นอย่างไร

ผู้เขียน (หมายถึงคนที่เขียนหนังสือนี้) เอง ก็ไม่มีบทสรุปในเรื่องนี้ แต่เชื่อมั่นว่าหลวงปู่ขาว ฟังเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ รู้เรื่อง เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ เหมือนกัน




 
>> เรื่องนกอีกคู่หนึ่ง
หลวงปู่ขาวยังคงบำเพ็ญเพียรอยู่ที่เดิม หลังจากนั้นอีกสามสี่วัน ก็มีนกอีกคู่หนึ่งบินมาจับกิ่งที่ต้นไม้เดิม ดูท่าทางมันคุยกันอย่างมีความสุขตามประสาหนุ่มสาว ไม่เหมือนกับนกแซงแซวคู่แรกที่มีลูกด้วยกันแล้ว

นกคู่หลังนี้ต่างตัวต่างก็พูดคำหวานให้กัน นกตัวผู้พูดว่า “รีรอ ริร่อ รักพี่ตัวเดียวนะน้อง”

หลวงปู่เล่าแค่นี้แล้วท่านก็หัวเราะ แล้วท่านก็พูดกับลูกศิษย์ฆารวาสว่า “เจ้านกสองตัวนี้ คงจะแต่งงานกันใหม่ๆ เพิ่งไปเข้าพิธีวิวาห์มา แล้วแยกจากหมู่พวกมาอยู่กันสองตัว”

หลวงปู่เล่าอย่างอารมณ์ดี แล้วท่านก็พูดว่า “ไม่ว่าคนหรือสัตว์ วัฏฏะเหมือนกันทั้งนั้น”

ท้ายสุดหลวงปู่ก็ให้โอวาทว่า “เป็นผัวเมียกัน คำว่ากูมึงอย่านำมาพูดกัน อย่านำมาใช้เรียกกัน พูดกันด้วยความไพเราะเพราะพริ้ง จะได้อยู่กันได้ชั่วชีวัน”


ข้อมูลจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2872

อภิญญา 6

 อภิญญามี ๖ อย่าง ได้แก่
๑) อิทธิวิธอภิญญา (มีปัญญาสามารถแสดงฤทธ์ได้)
๒) ทิพพโสตอภิญญา (มีปัญญาสามารถได้ยินเสียงที่อยู่ในที่ไกลหรือแม้เสียงทิพย์ได้)
๓) ปรจิตตวิชชานนอภิญญา (มีปัญญาสามารถรู้วาระจิตผู้อื่นได้)
๔) ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา (มีปัญญาสามารถระลึกถึงขันธ์ของตนในภพก่อนๆได้)
๕) ทิพพจักขุอภิญญา (มีปัญญาสามารถมีเห็นสิ่งที่อยู่ไกลหรือแม้สิ่งที่เป็นทิพย์ได้)
๖) อาสวักขยอภิญญา (มีปัญญาสามารถกระทำอาสวะให้สิ้นไป)

อภิญญา ๕ อย่าง (ยกเว้นอย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ) เป็นโลกียอภิญญา เกิดขึ้นด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน จนได้สมาบัติ ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔ (โดยจตุกนัย) และ อรูปฌาน ๔ และหลังจากได้ฌานทั้ง ๘ นี้แล้ว ต้องฝึก ฌานกีฬา ด้วย จึงจะสามารถแสดงอภิญญาได้ ส่วนอภิญญาข้อสุดท้าย เป็นโลกุตรอภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อรหัตมรรคญาณ ซึ่งเกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

อานาปานสติกรรมฐาน ปฏิบัติได้ถึงรูปฌานที่ ๔ แต่ไม่เป็นบาทของ อรูปฌาน เพราะ อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เกิดขึ้นได้โดยการเพิกกสิณบัญญัติ แล้วมี " กสินุฆาฏิมากาสบัญญัติ " เป็นอารมณ์ หมายความว่า ต้องเจิรญกสินกรรมฐาน จึงจะเจริญอรูปฌานต่อได้

ฉะนั้น อานาปานสติกรรมฐานอย่างเดียวจึงไม่เป็นบาทของอภิญญา ผู้ที่จะได้อภิญญา ต้องเจริญกสินกรรมฐานจนได้รูปฌานที่ ๔ แล้ว " เพิกกสิน " เจริญอรูปกรรมฐาน ๔ อย่างตามลำดับ จนสำเร็จ แล้วต้องฝึกฝน " ฌานกีฬา " จนเกิดความชำนาญ เมื่อทำได้ดังนี้จึงจะแสดงโลกียอภิญญา ๕ อย่างได้

อนึ่ง อภิญญาเกิดจากการ เจริญสมถกรรมฐาน ไม่เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

อานิสงส์ของสมถกรรมฐาน คือ ฌาน และ อภิญญา ส่วนอานิสงส์ของวิปัสสนากรรมฐาน คือ มรรค ผล นิพพาน

ข้อมูลจาก http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003261.htm




แม่ชีบุญเรือน โฮงบุญเติม (ผู้มีอภิญญา 6)

แม่ชีก็เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ใฝ่ธรรมะ ถือศีล 5 มาตลอด บางช่วงก็ถือศีล 8 แล้วหาครูอาจารย์ให้สอนทางสมาธิวิปัสสนา ซึ่งแม่ชีก็พยายามปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่บรรลุมรรคผลอะไร
 
แม่ชีจะปฏิบัติธรรมที่วัดอาวุธฯ (วัดบางพลัด) แถวจรัลสนิทวงศ์ ซึ่งวัจฉโคตรก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หลังจากที่ปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แม่ชีบุญเรือนก็ตัดสินใจถือศีล 8 เลิกยุ่งเกี่ยวกับครอบครัว หันมาอยู่วัดมากขึ้น วันหนึ่งจึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "จะมุ่งปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตายให้ได้ภายใน 90 วัน" แล้วเริ่มปฏิบัติอย่างเอาจริง ทั้งการรักษาศีล 8 ให้บริสุทธิ์ที่สุด การนั่งสมาธิ-วิปัสสนา เดินจงกรมอย่างไม่ย่อท้อ จนถึงวันที่ 89 ก็ยังไม่พบอะไร ดังนั้นในวันสุดท้าย แม่ชีได้ตั้งสัจจะอีกครั้งว่า ถ้าไม่บรรลุมรรคผล ก็ขอยอมตาย และวันที่ 90 นั้นเอง ท่านนั่งสมาธิอยู่ก็เกิดอาการหายใจไม่ออก ร่างกายเหมือนจะแตกดับ ท่านก็นึกในใจว่า ตายก็ตายไม่เสียดายชีวิตแล้ว ทันใดนั้นเองก็มีแสงสว่างไสว กายของท่านโปร่งเบา รู้เห็นอะไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ ท่านจึงรู้ว่าท่านบรรลุได้อภิญญา 6 แล้ว (มีฤทธิ์เดช เช่น เหาะได้ หายตัวได้ เดินทะลุกำแพง-ภูเขาได้ เดินบนน้ำได้ ฯลฯ)
 
แม่ชีบุญเรือนได้ใช้อภิญญาของท่านช่วยรักษาโรคให้กับคนทั่วไป และได้ผลดี มีลูกศิษย์มากมาย ท่านเดินทางไปรักษาทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะอยู่ที่วัดอาวุธฯ  ยาของท่านไม่มีอะไรมากมาย เช่น น้ำ-ไพล-ปูน-พริกไทย โดยท่านจะอธิษฐานให้สิ่งเหล่านี้มีพลังสามารถรักษาโรคได้
 
แม่ชีละสังขารเมื่อปี 2507 ทุกวันนี้ที่วัดอาวุธฯ (วัดบางพลัด) ก็มีลูกศิษย์มากราบไหว้บูชาโดยมีรูปปั้นของท่านประดิษฐานไว้ให้คนกราบไหว้
 

Monday 26 November 2012

พระพุทธเจ้า 5 พระองค์

ตำนานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
 
ในสมัยต้นปฐมกัป มีพญากาเผือก 2 ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา
อันเป็นธรรมชาติสถานที่รื่นรมย์ ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์
แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง 5 พระองค์ เมื่อครบทศมาสแม่กาเผือกก็เกิดออกไข่ ณ ที่รัง
ต้นมะเดื่อจำนวน 5 ฟอง (สถานที่นี่ในกาลต่อมาเรียกชื่อว่า วัดพระเกิด ) แม่กาเผือก
คอยเฝ้าฟักดูแลรักษาไข่ด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพญากาเผือก
ได้ออกไปหากิน ถิ่นแดนไกล ได้ไปถึงสถานที่ หนึ่งอันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธรรมชาติ
พืชพรรณธัญญาหาร แม่กาเผือกได้เพลิดหากินอาหาร ชื่นชม ธรรมชาติอันรื่นรมย์จนมืดค่ำ
พอดีฝนตกฟ้าคะนองพายุใหญ่พัดกระหน่ำทำให้มืดครึ้มทั่วไปหมด ทำให้พญากาเผือก
หาหนทางออกไม่ถูกจึงหลงในบริเวณสถานที่นั้นๆ ( สถานที่นั้นต่อมา จึงได้ชื่อว่า เวียงกาหลง )

แม่กาเผือกได้พักอยู่ที่เวียงกาหลงคืนหนึ่ง รุ่งอรุณเบิกฟ้า แม่กาเผือกจึงรีบถลาบินกลับสถาน
ที่พัก ณ ที่รังต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำ แต่ปรากฏว่ากิ่งไม้มะเดื่อ ที่ทำรังอยู่ได้ถูกลมพายุใหญ่
พัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ
แม่กาเผือกตกใจรีบบินถลาหาลูกไข่ทั้ง ๕ ในแม่น้ำ แต่ อนิจจาหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ
แม่กาเผือกพยามหาไข่ลูกของตนไปในทุกสถานที่ ตามลำน้ำจนเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักลูกอย่างสุดซึ้ง จึงไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้ในที่สุดก็สิ้นใจไปอย่างน่าสงสาร ด้วยอานิสงส์ที่มีความเมตตารักลูกอันบริสุทธิ์ กับทั้งทิ่ลูกของแม่กาเผือกเป็นโพธิ์สัตว์ถึง ๕ พระองค์ จึงเป็นบุญกุศลหนุนส่งให้แม่กาเผือกตายไปเกิดอยู่แดนพรหมโลกชั้นสุธาวาสมีวิมานทองคำสดใสบริสุทธิ์ งดงามตระการตา ได้พระนามชื่อว่า “ ฆติกามหาพรหม”
จักได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนไข่ทั้ง ๕ ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปในสถานที่ต่างๆ
ไข่ฟองที่ ๑ มีไก่เก็บไปดูแลรักษา
ไข่ฟองที่ ๒ แม่นาคราชเก็บไปดูแลรักษา
ไข่ฟองที่ ๓ แม่เต่าเก็บไปดูแลรักษา
ไข่ฟองที่ ๔ แม่โคเก็บไปดูแลรักษา
ไข่ฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา

ครั้งในกาลเวลาต่อมา พระโพธิสัตว์ ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ทั้ง ๕ ปรากฏเป็นมนุษย์
รูปร่างสวยสดงดงาม ทั้ง ๕ พระองค์ ในเวลาเดียวกันตามลำดับของแม่เลี้ยงทั้ง ๕ ที่นำไข่ไปเก็บดูแลรักษา พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ได้เจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยงดัวยความกตัญญู จึงรู้ทำหน้าที่ี่ทุกอย่างทดแทนบุญคุณแม่เลี้ยงเป็นอย่างดีจนถึงอายุได้ ๑๒ ปี ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่ง ก็มีจิตคิดที่จะออกบวชเนกขัมบารมี เป็นฤาษีอยู่ในป่าจึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั่ง ๕ พระองค์ ฝ่ายแม่เลี้ยงถึงจะมีความรักความอาลัยในลูกสักเพียงใด แต่ก็ไม่ขัดความประสงค์์เจตนาที่เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ของลูกจึงได้ อนุญาตให้ลูกไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมีอยู่ในป่าด้วยความอนุโมทนา ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของพระโพธิ สัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ที่มุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก ให้พ้นจากกองทุกข์ภัยในวัฏฏะสงสาร
 
แม่เลี้ยง ทั้ง ๕ เห็นปณิธาน อย่างนั้นจึงฝากนามของแม่เลี้ยง ไว้กับลูกเพื่อเป็นอนุสรณ์
ตำนานไว้แก่โลกต่อไปในภาคหน้าเมื่อลูกได้ตรัสรู้เป็นพุทธเจ้าโปรดโลกแล้วตามลำดับ
พระนามดังนี้
1. องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ เพราะตามนามแม่เลี้ยงที่เป็นไก่
2. องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคมโน เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นนาค
3. องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสโป เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า
4. องค์ที่ ๔ มีพระนามว่า พระโคตโม เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
5. องค์ที่ ๕ มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย เพราะตามนามแม่เลี้ยงที่ เป็นราชสีห์
ในกัปป์นี้ได้ชื่อว่าภัทรกัปเป็นกัปที่เจริญที่สุดเพราะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ถึง๕ พระองค์ มีพระนามตามที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้ง ๕ พระองค์ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ นโมพุทธายะ”

ในกัปป์นี้ได้ชื่อว่าภัทรกัปเป็นกัปที่เจริญที่สุดเพราะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ถึง๕ พระองค์ มีพระนามตามที่กล่าวมาแล้วนั้นทั้ง ๕ พระองค์ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ นโมพุทธายะ”
นะ คือ พระกกุสันโธ
โม คือ พระโกนาคมโน
พุทธ คือ พระกัสสะโป
ธา คือ พระโคตโม
ยะ คือ พระศรีอริยเมตไตยโย

จนเป็นคาถาสืบต่อกันมาเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อออกบวชเป็นฤาษีได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐาน
จนสำเร็จญาณ อภิญญาสมบัติ จึงสามารถเหาะไปหาอาหาร ผลไม้ด้วยฤทธิ์ทุกพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งได้เหาะไปหาอาหารผลไม้ และ บำเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงกุตตระ ณ ใต้ต้นนิโครธอันร่มเย็นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลบารมีธรรม ฤาทั้ง ๕ ได้มาพบกัน ณ ที่ นี้ โดยไม่ได้นัดหมาย รู้จักกันมาก่อน จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน
จึงได้รู้แต่ว่า แต่ละองค์มีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ฤาษีทั้ง ๕ จึงได้ร่วมกันตั้ง
สัจจะอธิฐาน ขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วยอำนาจสัจจะอธิฐาน ธรรมอันบริสุทธิ์ของฤาษีทั้ง ๕ จึงดังก้องไปถึงพรหมโลกเป็นเหตุให้ท้าวฆติกามหาพรหมซึ่งเป็นแม่กาเผือกตายและได้มาเกิดเป็นพรหม ทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงจำแลงเพศเป็นแม่กาเผือกขนสวยงามยิ่งนัก มาปรากฏอยู่ข้างหน้าฤาษีทั้ง ๕ ฝ่าย ฤาษีทั้ง ๕ ก็รู้ด้วยญาณ ทัศนะทันทีว่า นี่แหละเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง จึงสอบถามแม่กาเผือกถึงความเป็นมาตั้งแต่ต้นว่า เรื่องเป็นมาอย่างไร แม่กาเผือกจึงเล่าความเป็นมาแต่หนหลังครั้งทำรังอยู่ต้นมะเดื่อฝั่งแม่น้ำคงคา อยู่มาวันหนึ่ง ได้ออกมาหาอาหารกินถิ่นแดนไกลถึงสถานที่ที่หนึ่ง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร เป็นธรรมชาติอันสวยงามสงบร่มเย็น บังเกิดพายุใหญ่ ได้พัดกิ่งไม้ฝนตกฟ้าคะนอง จนมืดค่ำจึงหลงทางอยู่หาทางออกไม่ถูก จนกระทั่งอรุณรุ่งวันใหม่ฝนฟ้าพายุสงบลง จึงรีบบินกลับมาที่พักมาหาลูกที่รังด้วยความเป็นห่วง แต่ปรากฎว่าคืนที่ผ่านมาฝนตกหนัก พายุใหญ่ได้พัดกิ่งไม้มะเดื่อหักทำให้รังไข่ทั้ง ๕ ลูกแม่กาเผือกตกลงไปในน้ำและได้ถูกน้ำพัด ไหลไปในที่ต่างๆ หาเท่าไหร่ก็ไม่พบจนหมดความสามารถ ในที่สุดด้วยความรักความอาลัย อันบริสุทธิ์ที่มีต่อลูกก็สิ้นใจตาย ได้เกิดเป็นพระพรหมแดนพรหมโลกชั้นสุธาวาส มีวิมารทองคำเป็นที่อยู่ ด้วยอานิสงส์ความรักอันเมตตาอันบริสุทธิ์กับทั้งลูกเป็นพระโพธิญาณ มีบุญญาธิมาก จึงได้เกิดมาเป็นพรหมและได้จำแลงเพศเป็นแม่กาเผือกให้ลูกฤาษีทั้ง ๕ ได้ทราบถึงความเป็นมาทั้งหมด

เมื่อลูกฤาษีได้ทราบเหตุ เช่นนั้นแล้้วก็รู้สึกสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งและสำนึก
ในบุญสร้างคุณอันใหญ่หลวง ของแม่กาเผือก จึงน้อมกราบนมัสการ ฆติกามหาพรหม
ผู้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดชีวิตลูกได้สร้างบุญบารมีพระโพธิญาณ จึงกราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์
ของแม่กาเผือกผู้บังเกิดเกล้าเอาไว้บูชา พระแม่กาเผือกจึงประทานผ้าฝ้ายเป็นด้ายฟั่น เป็นตีนกา สัญญาลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือก ประทานให้ลูกฤาษีทั้ง 5 ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ และต่อมาเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ลอยกระทง เป็นตำนานสืบไว้ในโลกาตลอดกาลนาน เมื่อแม่กาเผือกฆติกามหาพรหมประทานสัญลักษณ์ ไว้ให้ลูกฤาษีโพธิสัตว์ทั้ง 5 แล้วก็อำลาลูกกลับเทวสถาน วิมานของตนบนพรหมโลกตามเดิม

ฤาษีโพธิสัตว์ทั้ง 5 ต่างก็พากันตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรรักษาศีลธรรมภาวนามิได้ขาด
ทุกวันพระก็จุดประทีบตีนกาบูชา พระแม่กาเผือกฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่อยู่เสมอ เป็นเวลา
นานหลายปีชีวีฤาษีทั้ง 5 ก็ดับขันธ์ได้ไปเกิดบนเทวโลกชั้นดุสิตพิภพอันเป็นที่อยู่ขององค์เทพ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในที่นั้น และในกาลต่อมาก็วนเวียนบำเพ็ญบารมีทุกภพชาติที่กำเนิดเกิดในสังสารวัฏฏ์นี้ จนบารมีเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ทั้ง 30 ทัศแล้ว ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ไหนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ ต้นกัปโลกาก็จะนำเอาบริขารคือ บาตรไตรจีวร มาถวายลูกโพธิสัตว์ทั้ง 5 พระองค์ในชาติสุดท้าย ที่จะได้เป็น พระพุทธเจ้าโปรดโลกทุกพระองค์ กาลเวลาอันยาวนานผ่านไปจนถึงปัจจุบันนี้ พระโพธิสัตว์ลูกแม่กาเผือกต้นปฐมกัปป์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โปรดโลกไปแล้วถึง 5 พระองค์ ตามลำดับดังนี้คือ

1. พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 4 หมื่นปี มีเขมวตีนคร ของพระเจ้าเขมะเป็นราชธานี
2. พระโกนาคมโนสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 3 หมื่นปี มีโสภวตีนครของพระเจ้าโสภะเป็นราชธานี
3. พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 2 หมื่นปี มีพาราณสีนครของพระเจ้ากิงกิเป็นราชธานี
4. พระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ 80 ปี มีกบิลพัสดุ์นครของพระเจ้า สุทโธทนะเป็น ราชธานี

ส่วนพระโพธิสัตว์องค์ที่ 5 อันเป็นลูกองค์สุดท้ายของแม่กาเผือกคือ พระศรีอริยเมตไตรย์ จักเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัททกัปนี้จะมีอายุถึง 8 หมื่นปี ในยุคของพระศรีอริยเมตไตรย์นั้น
สภาพสังคมมนุษย์โลกจะอุดมสมบูรณ์พูนสุขมาก เพราะผู้คนมีศีลธรรมอยู่ด้วยกันได้เมตตาธรรม มีศีล 5 บริสุทธิ์ ทุกคน จึงมีทรัพย์สมบัติมาก มีอายุ ยืนยาว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีรูปร่างสวยสดงดงาม หน้าตาผ่องใสเบิกบานด้วยกันหมด เพราะผู้คนในยุคนั้นได้สร้างบุญบารมี ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา กันมาสมบูรณ์ดีหมดและเพราะพระบารมีของพระพุทธเจ้าศรีอริยเมตไตรยที่สั่งสมบารมี เพื่อความสันติสุขของโลกซึ่งมีพระเจ้าสังขจักรพรรดิทรงปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรมในเมืองเกตุมวดีนคร แผ่ธรรมจักรพรรดิให้คนรักษาศีล 5 ทั้งโลก เมื่อพระศรีอริยเมตไตรยได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้คนจึงได้ฟังพระธรรมจักรได้ดื่มรส อมตะธรรมแห่งพระศรีอริยเมตไตรย์ ได้บรรลุเข้าถึงสวรรค์นิพพานโดยแท้ ผู้คนในยุคนั้นจึงโชคดีที่สุดที่เกิดมาเพื่อสันติสุข เข้าถึง ศีลธรรมอันดีงามทั้งหมด

ขอให้ทุกคนจงพากเพียร ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา จะได้ไปเกิดในพระศาสนาพระศรีอาริย์
หากเข้าสู่นิพพานยุคนี้ยังไม่ได้ ท่านก็ยังมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งอย่างแน่นอน คือพระศรีอริยเมตไตรย์ลูกแม่กาเผือกองค์สุดท้าย การเกิดมาพบพระพุทธศาสนาเป็นของหายาก การเกิดมาพบพระพุทธเจ้าก็แสนยาก บางครั้งโลกนี้ว่าง จากพระพุทธเจ้าเป็นล้านปีสัตว์โลกไม่มีโอกาสเห็น หนทางพระนิพพานเลย ขอให้พวกเราอย่าได้ประมาท จงหมั่นขยันสร้างบุญบารมี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ทำนุบำรุง รักษาพระพุทธศาสนา ก็จะเข้าถึงศีลธรรม สันติสุข ได้ทุกคนและได้ร่วมสายบุญบารมีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์

ข้อมูลจาก http://board.palungjit.com

หลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร

ประวัติของบรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร

 
กล่าวย้อนไปถึงอดีตกาล พุทธศักราชผ่านพ้นไป ๓๐๓ ปี (ตามหลักฐานบันทึกในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา คำบรรยายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) อดีตภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร) และตามหลักฐานของวัดเพชรพลี (บันทึกอักษรเทวนาครี ขุดค้นพบ ณ ซากศิลา วัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี) ว่า พระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิในปีพุทธศักราช ๒๓๕ ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง ๖๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงกระทำตติยสังคายนาพระไตรปิฎก คือ การชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ครั้นแล้วจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ องค์อรหันต์เป็นประธานคัดเลือกบรรดาพระอรหันต์เถระออกทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ในอนาคตพุทธศาสนาอาจไม่มั่นคงอยู่ในอินเดีย จึงเห็นควรส่งพระสมณทูตออกไปเผยแผ่ในส่วนต่าง ๆ ของอินเดียและในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการส่งพระสมณทูตออกประกาศพุทธศาสนา โดยแบ่งออกเป็น ๙ สาย ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระสมณทูต ๙ สาย คือ
สายที่ ๑ มีพระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย คือ แคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) และแคว้านคันธาระ
สายที่ ๒ มีพระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย คือ แคว้นมหิสมณฑล (ปัจจุบัน คือ รัฐไมซอร์)
สายที่ ๓ มีพระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งได้แก่ แคว้นวนวาสีประเทศ
สายที่ ๔ มีพระธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาแถบชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย อันได้แก่ แคว้นอปรันตกชนบท (ปัจจุบัน คือ แถบบริเวณเหนือเมืองบอมเบย์)
สายที่ ๕ มีพระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ อันได้แก่ แคว้นมหาราษฎร์
สายที่ ๖ มีพระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่โยนกประเทศ (กรีซ)
สายที่ ๗ มีพระมัชฌิมเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางดินเดียภาคเหนือ (แถมเทือกเขาหิมาลัยและประเทศเนปาล)
สายที่ ๘ มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ (ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ไม่อาจตกลงกันได้ว่าที่ใด แต่มีความเป็นกว้าง ๆ ว่า คือดินแดนที่เป็นประเทศพม่า (เมียนมาร์) ไทย ลาว ญวน เขมร และมลายู)
สายที่ ๙ มีพระมหินทเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป (ปัจจุบัน คือ ศรีลังกา)
สำหรับดินแดนในเขตสุวรรณภูมิ พระโสณเถระ เป็นสมณทูตที่เข้ามาประกาศพระศาสนาได้แสดงธรรมในพรหมชาลสูตรเป็นปฐมเทศนา และได้นำพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาพร้อมกับพระอรหันต์อีก ๔ องค์ ได้แก่ พระอุตตรเถระ พระฌานียเถระ พระภูริยเถระ และพระมุนียเถระ มีสามเณร อุบาสกอุบาสิการ่วมคณะ จำนวน ๓๘ คน ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าสุวรรณภูมิราชาหรือพระเจ้าโลกละว้า ที่เมืองคูบัว ราชบุรี เมื่อเดือนกัตติกมาส หรือเดือน ๑๒ พุทธศก ๒๓๕ (ก่อน ค.ศ. ๓๐๘)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดำเ นินจนมาถึง พ.ศ. ๒๖๔ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๙) พระโสณเถระจึงได้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรก ณ เมืองเถือมทอง อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ให้พระภูริยเถระเป็นผู้ทำนิมิตพัทธสีมา ในปีพฬศ. ๒๖๕ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๘) และได้สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงบาตรคว่ำเหมือนพระสถูปที่เมืองสาญจีในประเทศอินเดีย มีชื่อว่า "วัดพุทธบรมธาตุ" จนพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของไทยในปัจจุบัน
คณะหลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดร (คณะพระโสณะและพระอุตตระ)

๑. หลวงปู่พระอุตตรเถระเจ้า

๒. หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า

๓. หลวงปู่พระมูนียเถระเจ้า

๔. หลวงปู่พระฌาณียเถระเจ้า

๕. หลวงปู่พระภูริยเถระเจ้า
ในคำจารึกอักขรเทวนาครี ฉบับวัดเพชรพลี ปรากฏข้อความที่พิศดารยิ่งขึ้น โดยกล่าวถึงคณะพระธรรมฑูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยทางเรือประกอบด้วย พระโสณะ พระอุตตระ พระมูนิยะ พระฌานียะ พระภูริยะ สามเณรอิสิจน์ สามเณรคุณะ พระสามเณรนิตตย เขมกะอุบาสก อนีฆาอุบาสิกา อดุลยอำมาตย์และคุณหญิงอดุลยา พราหมณ์และนางพราหมณี ผู้คนอีก ๓๘ คน ได้มาพักที่วัดช้างค่อม (นครศรีธรรมราช) เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๒๓๕ ออกบิณฑบาต วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วเทศนาพรหมชาลสูตรและได้วางวิธีอุปสมบทญัตติจตุตถกรรมวาจา โดยใช้อุทกเขปเสมาหรือเสมาน้ำและได้วางเพศชีไทยโดยถือแบบเหล่าพระสากิยานี ซึ่งเป็นต้นของพระภิกษุณีโดยบวชหรือบรรพชาไม่มีเรือน ออกจากเรือน (อาคารสมา อนาคาริยปพพชชา) ได้วางวิธีสวดปาติโมกข์หรืออุโบสถกรรม ปวารณากรรม
เมื่อพระเจ้าโลกละว้าราชา (เจ้าผู้ครองแคว้นสุวรรณภูมิ) รับสั่งให้ มนต์ขอมพิสนุ ขอมเฉย ขอมสอน ขอมเมือง สร้างวัดมหาธาตุ ท่านได้วางวิธีกำหนดนิมิตผูกขันธ์สีมา พ.ศ. 238 เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่านได้สอนพระบวชใหม่ให้ท่องพระปาฏิโมกข์จบหลายองค์ แล้วจึงวางวิธีสวดสาธยายโดยฝึกซ้อมให้คล่อง เมื่อคล่องแล้วจึงจะสัชณายกันจริงๆ ท่านให้มนต์ขอมปั้นพระพุทธรูปด้วยปูนขาวเป็นพระประธานในโรงพิธี เมื่อเรียบร้อยแล้วท่านวางวิธีกราบสวดมนต์ไหว้พระ เห็นดีแล้วจึงให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา ท่านได้วางวิธีกฐินและธุดงค์ไปในเมืองต่างๆ คือ การเที่ยวจาริก


การสร้างพระพุทธรูปในสมัยดังกล่าวนี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ มีพระพุทธรูปเป็นองค์สมมุติ พระสงฆ์ก็เป็นเพียงสมมุติสงฆ์ ส่วนพระธรรมนั้นเป็นเพียงเสียงสวด ท่านจึงใช้วงล้อเกวียนประดิษฐ์เป็นธรรมจักรแทนพระธรรม กับมี มิค (มิ–คะ) คือสัตว์ประเภท กวาง ฟาน หรือเก้ง เป็นเครื่องหมาย ในสมัยสุวรรณภูมิ


พระพุทธรูปที่มีกวางกับธรรมจักรกลับไม่มี การสร้างหรือออกแบบในสมัยนั้น มีอยู่สี่ลักษณะด้วยกันคือ (ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน) มีอักษรเทวนาครีจารึกระบุพระนามว่า โลกกน แบบประภามณฑลมี ๓ วงซึ่งเป็นเครื่องหมายพระนามว่า “โลก” คือ วัฏฏ ๓ แบบโปรดสหาย พระยศ ส่วนปางมารวิชัยและปางสมาธิมีทุกสมัย


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙ พระโสณะกับพระเจ้าโลกละว้าราชา ได้ส่งพระภิกษุไทย ๑๐ รูป มีพระญาณจรณะ (ทองดี) เป็นหัวหน้า ๓ รูป อุบาสก อุบาสิกา ไปเรียนและศึกษา ณ กรุงปาตลีบุตรแคว้นมคธ นับเป็นเวลา ๕ ปี พระญาณจรณะ (ทองดี) ท่านนี้ปรากฏหลักฐานเพียงรูปของพระพิมพ์ มีลักษณะอวบอ้วนคล้ายพระมหากัจจายนเถระเจ้า ด้านหลังมีรูปพระ ๙ องค์เป็นอนุจร หรือบวชทีหลัง คนชั้นหลังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นองค์เดียวกับพระมหากัจจายนเถระเจ้า และเรียกเพี้ยนเป็นพระสังขจาย เรียกกันมานานนับพันๆ ปี ศัพท์สังขจายไม่มีคำนิยามในพจนานุกรม พุทธสาวกทุกพระองค์จะมีนามเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น ไม่มีนามเป็นภาษาไทย พระญานจรณะ (ทองดี) บรรลุอรหันต์และจบกิจนานนับพันปีแล้ว ปัญหาเช่นดังกล่าวนี้หากนำพระปิดตาขึ้นมาพิจารณาก็ยากที่จะตัดสินว่าเป็นพุทธสาวกองค์ใดกันแน่ อาจจะเป็นพระมหากัจจายนเถระเจ้า ปางเนรมิตวรกายก็ได้ อาจจะเป็นพระควัมปติเถระ ก็ได้ เป็นพุทธสาวกทรงเอตทัคคะด้วยกัน แต่เป็นคนละองค์ คำว่า พระควัมบดี ไม่มี)


ลุปี พ.ศ. ๒๔๕ พระเจ้าโลกละว้าราชาสิ้นพระชนม์ ตะวันทับฟ้าราชบุตรขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามว่า ตะวันอธิราชเจ้า ถึงปี พ.ศ. ๒๖๔ พระโสณเถระใกล้นิพพาน พระโสณเถระอยู่ ณ แดนสุวรรณภูมิ วางรากฐานธรรมวินัยในพระบวรพุทธศาสนา เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี และท่านนิพพานในปีนั้น หลักฐานต่างๆ ตามที่กล่าวจารึกด้วยอักษรเทวนาครี ขุดพบที่โคกประดับอิฐ ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี พบรูปปั้นลอย องค์ลักษณะนั่ง ลักษณะนั่งห้อยเท้า มีลีลาแบบปฐมเทศนา มีเศียรโล้น ด้านหนึ่งจารึกว่า โสณเถระ ด้านล่าง อุตตรเถระ ด้านล่างสุด สุวรรณภูมิ มีอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ ผู้ค้นพบทุบเล่น ๓ องค์ เหลือเพียง ๒ องค์ ตกเป็นสมบัติของวัดเพชรพลี ส่วนครบชุด ๕ องค์ คือ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ พระมูนียเถระ พระฌานียเถระ และพระภูริยเถระ ในท่านั่งแสดงธรรม สมัยต่อมาในรัชกาลที่ ๔-๕ มีการสร้างแบบพระสมเด็จขึ้น แล้วเห็นเป็นพระสมเด็จผิดพิมพ์อีกด้วย จึงเป็นการสับสนสำหรับผู้ที่ไม่รู้จริง


จะเห็นได้ว่าตามหลักฐานบันทึก กล่าวเพียงพระโสณเถระ ไม่ได้กล่าวถึงพระอุตตรเถระ (อุตร ก็คือ อุดร) เป็นปัญหาว่า หลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดรเป็นองค์ใดกันแน่ เพราะในสมัยปัจจุบันกล่าวถึงบรมครูพระเทพโลกอุดร ไม่มีใครรู้จักพระโสณะเถระ ข้อเท็จจริง ท่านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิต องค์พี่คือพระอุตตระ มีร่างกายสันทัด องค์น้องคือพระโสณะ มีร่างกายสูงใหญ่ มีฉายาว่าขรัวตีนโต ถ้านำพระธาตุมาตรวจนิมิตจะบอกว่า โสณ-อุตตร ไม่แยกจากกัน องค์น้องบรรลุอรหันต์ก่อนองค์พี่ แต่มีความเคารพองค์พี่มากต้องกราบองค์พี่ แต่เหตุที่บรรลุก่อนพี่ชายจึงเรียกว่า โสณ-อุตตร ไม่เรียกว่า อุตตร-โสณ ฉะนั้น หลวงปู่ใหญ่ก็คือ พระอุตตระ นั่นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี กล่าวพระนามขององค์ท่านว่า พระโสอุดรพระโลกอุดร

บุคลิกภาพและจริตแห่งพระเทพโลกอุดร

องค์ที่หนึ่ง พระอุตตรเถระ หรือหลวงปู่ใหญ่ คือหลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดร ลักษณะรูปร่างสันทัด ผิวกายค่อนข้างดำคล้ำ จึงมีฉายาว่า “หลวงพ่อดำ” มีจิตเยี่ยงพระโพธิสัตว์เจ้า บรรลุอภิญญาหก แต่ในบทสวดกล่าวว่าเตวิชโชคือวิชชาสาม ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับปฏิสัมภิทาญาณ แต่ในบทสวดก็กล่าวว่าท่านบรรลุซึ่งปฏิสัมภิทาญานเช่นกัน ท่านได้วางหลักสูตรในการฝึกสมาธิซึ่งเรียกว่า “วิทยาศาสตร์ทางใจ” มิใช่วิชาไสยศาสตร ์และมิใช่มายากล ศิษย์ในดงนอกดงสามารถแปรธาตุได้ เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, ท่านอภิชิโต ภิกขุ, อาจารย์พัว แก้วพลอย, อาจารย์ฉลอง เมืองแก้ว และหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เป็นต้น


ท่านเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์และเภสัชกรรม ใจดีประกอบด้วยเมตตา มีอารมณ์ขัน หากจะกล่าวถึงหัวหน้าคณะพระธรรมฑูตซึ่งเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิแหลมทอง คงได้แก่ พระโสณเถระ ซึ่งท่านเป็นน้องชายพระอุตตรเถระ แต่บรรลุอรหันต์ก่อนพี่ชาย บทบาทของพระอุตตรเถระจึงไม่ค่อยมีปรากฏ และพระโสณเถระก็บรรลุปฏิสัมภิทาญาณเช่นกัน มิฉะนั้นจะสอนพระศาสนาแก่คนต่างชาติได้อย่างไร ปฏิสัมภิทาญาณสี่ มีดังนี้

๑. อัตถปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในอรรถ เข้าใจถืออธิบายอรรถแห่งภาษิตให้พิศดาร และเข้าใจคาดคะเนล่วงหน้าถึงผลอันจักมีเข้าใจผล

๒. ธรรมปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในธรรม เข้าใจถือเอาใจความแห่งอธิบายนั้นๆ ตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อขึ้นได้ สาวเหตุในหนหลังให้เข้าใจเหตุ

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในภาษาและรู้จักใช้ถ้อยคำ ตลอดจนรู้ถึงภาษาต่างประเทศ

๔. ปฏิภาณสัมภิทา คือ ความแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบ เข้าใจทำให้สบเหมาะในทันทีหรือในเมื่อเหตุเกิดขึ้นโดยฉุกเฉินหรือกล่าวตอบโต้ได้ทันท่วงที

ท่านมีสภาวะจิตที่รวดเร็วมากเพียงนึกถึงท่าน ท่านจะบอกให้นิมิต “เมื่อเจ้าต้องการพบเรา เราก็มา เรามาจากทางไกล” ด้วยความรวดเร็วยิ่งในการตรวจพิมพ์ของท่าน ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นบรมครูพระเทพโลกอุดร ท่านอภิชิโต ภิกขุ มอบให้เป็นสมบัติ บอกว่าอาจารย์ท่านคือหลวงปู่ดำเสกให้ เคยทดลองให้ท่านอาจารย์วิเชียร คำไสสว่าง ชีปะขาวผู้ทรงคุณกำหนดจิตดูท่านอาจารย์บอกว่าพระนี้ว่องไวและรวดเร็วยิ่ง

องค์ที่สอง พระโสณเถระ หรือหลวงปู่ขรัวตีนโต รูปกายสูงใหญ่ ผิวดำ ทรงคุณสมบัติเช่นองค์ที่หนึ่ง เว้นแต่วิชาแพทย์ ใจดี เยือกเย็นประกอบด้วยเมตตาธรรม ชอบผาดโผน เหินฟ้านภาลัยโขดเขินเนินไศลเป็นที่สัญจร

องค์ที่สาม พระมูนียะ หรือพระอิเกสาโร หลวงปู่โพรงโพธิ์ หลวงปู่เดินหน ล้วนเป็นองค์เดียวกัน มีบุคลิกภาพอันสง่างามปรากฏตามภาพซึ่งใช้บูชากันอยู่ในปัจจุบัน เชี่ยวชาญในวิชาแปรธาตุ เป็นผู้คงแก่เรียน ชอบเจริญอสุภกรรมฐาน 10 มักสร้างรูปบูชาเป็นโครงกระดูก พูดน้อยค่อนข้างเคร่งขรึมคล้ายดุ แต่ก็ไม่ดุ เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ห่มจีวรสีหมองคล้ำ หากปรากฏภาพในนิมิตมักจะปรากฏเส้นเกสายาวจรดเอวทีเดียวแสดงว่า “อิเกสาโร” (เกสา แปลว่า เส้นผม) ท่านมีบทบาทไม่น้อย ตามความรู้สึกน่าจะมีบทบาทมากกว่าองค์อื่นๆ ด้วยซ้ำไป

องค์ที่สี่ พระณานียะ หรือหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จังหวัดนครปฐม ท่านมีรูปกายค่อนข้างสูงใหญ่ ขนตาดกยาวแปลกกว่าองค์อื่น มีอำนาจ แต่ขี้เล่นใจดี นิมิตไม่แน่นอนอาจเป็นรูปพระภิกษุ ท่านจะชื่ออะไรไม่ทราบแต่แปรธาตุเสกใบมะม่วงเป็นกบนำมาพร่า ยำ เลี้ยงสานุศิษย์ เลยเรียกกันว่าหลวงพ่อกบ ท่านมาสร้างบารมีต่อ ปริศนาธรรมคือขรัวขี้เถ้าเผาแหลกมีอะไรเผาหมด แบบเถ้าสู่เถ้า ผงคลีสู่ผงคลี ดินจะใหญ่สักปานใดมันก็ไม่พ้นจากความเป็นขี้เถ้าหรอก ในที่สุดท่านก็มรณภาพและสานุศิษย์นำใส่โลงศพรอวันเผา หลวงปู่เกิดหายไปไร้ร่องรอย เลยไม่มีการฌาปนกิจศพ

องค์ที่ห้า พระภูริยะ หรือหลวงปู่หน้าปาน บางคนก็เรียกท่านว่า หลวงปู่แก้มแดง เคยเรียนถามท่านอภิชิโต ภิกษุ ท่านบอกว่าขรัวหน้าปานองค์นี้สำเร็จปรอท ล่องหนย่นระยะทางเก่ง ถ้าท่านเอาลูกปรอทมาอมทางแก้มซ้าย ทางด้านซ้ายจะแดง ถ้าเปลี่ยนเป็นอมทางแก้มขวา ทางด้านขวาจะแดง จึงเกิดถกเถียงกันไม่รู้จบ ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า มาสร้างเสริมบารมีในระยะเวลาเดียวกัน โดยอาศัยร่างท่านพระมหาชวนหรือหลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมบางมด ท่านเป็นพระภิกษุทรงศีล เมื่อมีผู้ซักถาม ท่านก็บอกตามตรงว่าพระมหาชวนได้ตายไปแล้ว อาตมาเป็นพระสำเร็จมาอาศัยร่างสร้างบารมีต่อ

ข้อมูลจากเวปไซต์ http://thamvuadang.com/index.php/history-luangpu

Saturday 24 November 2012

นอนไม่หลับ ?

นอนไม่หลับ

สาเหตุของโรคและอาการ

นอนไม่หลับเป็นอาการของคนที่นอนหลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ เมื่อตื่นแล้วนอนไม่หลับ ทำให้อ่อนเพลีย เมื่อต้องตื่นนอนในตอนเช้า ขาดพลังงาน จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน อาการนอนไม่หลับมิใช่โรค ดังนั้นจึงสามารถรักษาให้หายได้ สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและทางใจ เช่น ความเครียด อาการไม่สบายทางกาย ยารักษาโรคหรือสารเสพติดบางชนิด การเปลี่ยนแปลงเวลานอนบ่อย มีสิ่งรบกวนการนอน เป็นต้น

การรักษาแบบธรรมชาติ

1. กินอาหารจำพวกข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ชัดสี ผัก ปลา  ช่วยลดความเครียด และทำให้นอนหลับง่ายขึ้น
2. เน้นกินอาหารที่อุดามด้วยวิตามินซี และวิตามินบีรวม ซึ่งได้จากข้าวกล้อง พืชผักผลไม้ ถั่วฝัก ถั่วเมล็ดแห้ง จะช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นอนไม่หลับ
3. กินอาหารที่ทำมาจากขี้เหล็ก กระถิน มะระ เห็ดไผ่ และขิง เป็นอาหารมื้อเย็น เพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
4. ดื่มนมถั่วเหลืองอุ่น ๆ 1 แก้ว ก่อนเข้านอนสัก 1 ชั่วโมง
5. ลดการบริโภคอาหารเผ็ดจัด หรือมีรสจัด และไม่ควรกินอาหารก่อนนอน ควรทิ้งช่วง 3 - 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
6. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นทุกชนิด
7. ตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เป็นนิสัยและเข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงเท่านั้น
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเข้านอน

การรักษาแบบใช้สมาธิ

1. นอนตัวตรง ในท่าที่สบาย  ๆ ซึ่งเป็นท่าที่พร้อมที่จะหลับจนถึงเวลาตื่น
2. วางมือและแขน ในท่าที่สบายที่สุด
3. ค่อย ๆ หลับตาลงเบา ๆ อย่าฝืน
4. ทำความรู้สึกกับลมหายใจเข้าออก โดยการกำหนดลมหายใจไปเรื่อย ๆ..................
จะทำให้จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก รวมจิตไว้ที่จุดเดียว ช่วยไม่ให้คิดกังวลไปในเรื่องต่าง ๆ ทั้งอดีตและอนาคต กล่าวคือ จะให้อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

เหมือนตอนที่เรานั่งสมาธิแล้วสับผงกนั่นเอง ซึ่งถ้าใครสามารถฝึกนั่งสมาธิได้ก็จะดีมาก มันจะช่วยทำให้จิตใจเราสงบขึ้น ช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

 
เน€เธ›เธดเธ”: 345






 







Wednesday 14 November 2012

วิปัสสนากรรมกร - ท่านพุทธทาส

วิปัสสนากรรมกร


เรื่องทำการงานนี่ เคยพูดกันมาหลายหนแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจก็ตามใจ ทำวิปัสสนา ในการงานนี้ เราต้องการอยู่เสมอ ยังต้องการอยู่ จะเป็นครั้งนี้ หรือ ครั้งพุทธกาลโน้น ก็ตามใจ เรื่องมัน
เรื่องเดียว เรื่องวิปัสสนา คือ ต้องเห็นความจริง เห็นข้อเท็จจริง เห็นความจริงที่ทำลายความเห็นแก่ตัวนี่จะจำจะจดก็จดประโยคสั้นๆ นี้ว่า วิปัสสนาที่แท้จริง เป็นการเห็นความจริง ที่ทำลาย
ความเห็นแก่ตัว
เท่านี้ก็พอแล้ว


นี่คือวิธีที่เราจะเห็นความจริง ชนิดทำลายความเห็นแก่ตัว มีอีกหลายแบบ หลายอย่าง แล้วมันก็ไม่จำเป็น จะต้องเหมือนกันไปหมด มันปรับปรุงได้ ตามกาละสมัย ข้อนี้ อย่าว่าแต่ ธรรมะเลย
แม้แต่ วินัยพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสอนุญาตไว้ ว่าถ้าอันไหน ไม่เหมาะสม จะเพิกถอนแก้ไขก็ได้ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสอนุญาตไว้อย่างนี้ เมื่อจะปรินิพพาน เมื่อวันจะนิพพาน เราไม่สมัครที่จะ
แก้ไขกันเอง ฝ่ายเถรวาท ยินดีที่จะเอาตามตัวหนังสือ ไม่แก้ไขดัดแปลงอะไร เหมือนพวกมหายาน ถ้าแก้ไข ก็แก้ไขได้ แต่ไม่อยากจะแก้ไข รักษาไว้ ตามตัวหนังสือ


นี้หมายความว่า สิ่งต่างๆ นั้น ปรับปรุงแก้ไขตามควรแก่กาละเทศะได้ เดี๋ยวนี้ แม้พระแต่ละองค์ ก็ไม่ได้เป็นอยู่ เหมือนครั้งพุทธกาล เนื่องจาก โลกมันเปลี่ยนแปลง ในระหว่าง ๒,๐๐๐ กว่าปีนี้ โลกมันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงหลายอย่างหลายประการ แต่ว่า ส่วนใหญ่ เปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ เราจะต้องทำอะไรให้มันเป็นประโยชน์มากขึ้นจะเนิบๆ เนือยอยู่ เหมือนครั้งพุทธกาล นั้นไม่ได้ เราทำผิด หรือทำถูก ก็ตามใจ แต่ว่าเราทิ้งอะไรบางอย่าง จากครั้งพุทธกาลกันก็มี ในส่วนการเป็นอยู่ หรือการทำประโยชน์ผู้อื่น อย่างนี้เราทิ้ง แต่ หลักธรรมนั้นทิ้งไม่ได้ นี่ หลักวิปัสสนา หลักธรรมะทิ้งไม่ได้ ต้องเป็นหลักที่ทำลายความเห็นแก่ตัว ถอนความเห็นแก่ตัว ถอนความรู้สึกว่า
ตัว
ในที่สุด อันเดียว คงไว้ ส่วนวิธีการต่างๆ ที่จะให้สำเร็จผลตามนั้น ก็ต้องปรับปรุงได้ ต้องเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะแก่ กาละสมัยได้ แล้วก็ต้องเป็นคนที่มี ความเข้าใจถูกต้องในวัตถุประสงค์ ไม่คุ้มดีคุ้มร้าย เหมือนพระเหล่านี้ ผมพูดตรงๆ เรียกว่า เขาเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย มีความเห็นแก่ตัวมาก


เราถือเอาตามหลักธรรมะ ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้แล้ว มันมีทางมากทาง ไปอ่านดูใหม่ ในเรื่องนิมิตตายตนสูตร ทางแห่งนิมิต ๕ ประการนั้น ไปอ่านดูด้วยการเรียน ด้วยการฟัง ด้วยการสอน
ด้วยการคิดนึก ด้วยการ ทำความเพียร มันมีได้หลายทาง แต่ว่าตลอดเวลานั้น ต้องให้มี ความพอใจ ในการกระทำของตัวว่าถูกต้อง ที่เรียกว่า ปีติ (ให้เกิดความอิ่มใจ) คือ ทำใจคอ ให้ปกติ ถ้าใจคอปกติ ก็เป็นสมาธิ เท่าที่จำเป็นหรือพอเหมาะพอดี ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่สมาธิ เหลือเฟือ ให้มันพอดีกับเวลา ใช้เวลาไม่มากดอก ก็จะได้ความรู้ที่เป็นการบรรลุธรรม เป็นการตรัสรู้
ในเวลานั้น เพราะทุกอย่างมันเป็นไปเท่าที่ธรรมชาติต้องการ พอเหมาะพอดี ไม่มากไม่เกิน


เปรียบเทียบวิธีการวิปัสสนา
ทีนี้จะยกตัวอย่างให้ฟัง ได้ง่ายๆ เหมือนกับเราหาไม้ มาเยอะแยะไปหมด หาอิฐ หาปูนซิเมนต์ หาเหล็ก มาเยอะแยะไปหมด แล้วก็ไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มี ที่จะให้เป็นเรือน เป็นกุฎิ อะไรขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มี หรือว่า เพราะหลงใหล แต่ในการหา สะสมไม้ สะสมอิฐ สะสมเหล็ก สะสมปูน สะสมทัพพสัมภาระ อย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำ จนกระทั่งของนี้ผุพังไปในที่สุด จนกระทั่ง สมภารนี้ก็ตายไป ไม่ได้ทำกุฎิ หรือทำบ้านทำเรือน ของคนชาวบ้าน นี้อย่างนี้

ทีนี้ อีกอย่างหนึ่ง ก็ตรงกันข้าม คือหาไม้มา ๔-๕ อัน ทำเข้าไปหมด หาไม้มาอีก ๔-๕ อัน ทำเข้าไปหมด หาอิฐมา ๑๐๐-๒๐๐ ก้อน ทำเข้าไปหมด หากระเบื้องอะไร ทำเข้าไปหมด พอหมดก็จบกัน ของก็หยุดหา อย่างนี้ก็มี นี่เรียกว่า พอดี ทำพอดี แล้วทำตาม common sense ง่ายๆ คือ ตามความคิดนึกธรรมชาติง่ายๆ เพราะเราไม่ได้หามาก แล้วไม่มัวหลง แต่ที่จะหาสิ่งก่อสร้าง แล้วก็ไม่ได้สร้าง

ทำวิปัสสนา ทำอานาปานสติ แบบที่เขียนอยู่ในกระดานดำ เวลานี้มีช่องทางที่จะเฟ้อ ในการมีสมาธิ ก็ได้ คือ มุ่งกันแต่เรื่อง มีสมาธิแล้วก็พยายาม ในขอบเขต ที่กว้างมากเกินไป แล้วมันก็ไม่ได้ง่ายๆ ไม่พอง่ายๆ แล้วสมาธินั้น ก็ไม่มีวันที่จะได้ใช้ สำหรับเป็นวิปัสสนา เพื่อพิจารณาให้เกิดญาณ อย่างนี้

ทีนี้ พวกคุ้มดีคุ้มร้าย พระคุ้มดีคุ้มร้าย เหล่านี้ ได้ยินแต่เรื่อง สมาธิ แล้วกระท่อนกระแท่น จับหลักไม่ถูก มันก็ไปทำไม่ได้ แต่มันยังมีอยาก อยากมาก อยากจะทำให้ได้ อยากจะทำสมาธิ ให้วิเศษวิโส กว่าใครเลย แล้วมันก็ทำไม่ได้ ก็พยายามอยู่แต่อย่างนี้ ก็เลยไม่ได้ทำส่วนที่เป็นปัญญาได้ คือโง่ ถึงขนาดที่จะฟังคำพูดเหล่านี้ ที่ตรงนี้ ไม่เข้าใจ เมื่ออาทิตย์ก่อนมีความโง่มากขนาดนั้น จึงฟังคำพูด ที่เราพูดตรงนี้ อาทิตย์ก่อนนั้น ไม่เข้าใจ

ทีนี้ย้อนไปดูถึงคนบางคน เป็นฆราวาสด้วยซ้ำไป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็บรรลุธรรมะที่ตรงนั้นเอง บรรลุมรรคผลที่ตรงหน้าพระพุทธเจ้า ที่ตรงนั้นเอง ไม่ได้ไปทำสมาธิที่ไหน ไม่ได้ไปทำวิปัสสนาที่ไหน ก็บรรลุมรรคผล ที่ตรงนั้นเลย อย่างนี้มันเป็นอย่างไร ลองคิดดู ไม่มีเวลา ที่เกิดอาการที่ว่าจะต้องไปหาไม้หาไร่มาสะสมมาปลูกเรือน มาอะไรทำนองนี้

แล้วยังมีวิธีที่จะรู้ธรรมะที่จะหลุดพ้นมากๆ วิธี อย่างที่กล่าวไว้ใน นิมิตตายตนสูตร ขอให้ไปสนใจทำให้เข้าใจจนสามารถทำให้มันเป็นเรื่อง ของปัญญา ของวิปัสสนา นี้อยู่เรื่อยไป โดยไม่
ต้องคำนึงถึง สมาธิหลับตา หรือ สมาธิที่มากมาย เกินความจำเป็น ก็ยังทำได้ ถ้าเราพิจารณา ด้วยความ ตั้งใจจริง จะให้มันมีแรงมากจนถึงขนาดมันเป็นสมาธิอยู่ในตัวมันเอง เรื่องนี้เคยพูด หลายแห่ง หลายหน หลายตัวอย่างแล้ว พอเราจะตั้งใจจะทำการพิจารณาคือ คิด สมาธิมันก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และอัตโนมัติด้วย นี่พอดีไม่มากไม่น้อย


เราเอาพวกที่เขาจัดไว้ว่า เป็น วิปัสสนาญาณิกะ ดีกว่า คือพวกที่เอาการพิจารณานำหน้าสมาธิ ถ้าทำเอาสมาธินำหน้าวิปัสสนา อย่างนั้น เขาเรียกว่า สมถญาณิกะ คือทำสมาธิมากๆ มากๆ
หลายอย่างหลายแบบ จนเกิดสมาธิ จึงค่อยน้อมไปสู่ วิปัสสนา ทีหลัง มันก็ใช้นิดเดียว นอกนั้นก็เหลือ เหลือใช้ อย่างนี้มันก็ได้ คือว่า ทำสมาธิให้มาก แล้วลากวิปัสสนาไปตาม เรียกว่า
สมถญาณิกะ นี่จัดแบ่งกันทีหลังให้ชื่อทีหลัง


ถ้าว่าเป็นวิปัสสนาญาณิกะ ก็คือเอาการคิดการพิจารณานำหน้าเรื่อย ลงมือคิดพิจารณาเลย สมาธิถูกลากมาเอง การเพ่งพิจารณา มันลากสมาธิตามมาเอง แล้วมันลากมาได้ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
มันไม่อาจที่จะลากมาให้มากเกินกว่าที่จำเป็นได้ นี่คือแบบวิธีที่ลัดที่สุดของพวกที่เป็นฆราวาสหรือพวกสมัยนี้ที่จะทนไหว เขาก็ถือกันว่าทั้ง ๒ แบบนี้ใช้ได้ แม้แต่พวกพระ พวกพระจะเลือกเอา
แบบไหนก็ได้ ผมแนะว่า อย่าหามกัน มากเกินไป แบกหามกัน มากมายเกินไป แล้วก็ไม่รู้จะใช้อะไร นี่คือ เราเรียกว่าพวกแบบกระได ก็ได้ เที่ยวแบกกระไดอยู่เรื่อย แต่ไม่รู้ว่าจะไปพาดขึ้น
บ้านเรือนใครที่ไหน ไม่รู้ว่า ปราสาทอยู่ที่ไหน เที่ยวแบกกระได อยู่เรื่อย นี่พวกทำสมาธิล้วนๆ เป็นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะไปจดเข้าที่จุดไหนสำหรับการพิจารณา


นี้อยากจะใช้ วิธีวิปัสสนานำหน้า ลากสมาธิไป คือว่า พอเพ่งคิดเท่าไร สมาธิจะเกิดขึ้น เท่านั้น เพ่งคิดให้แรงเข้า สมาธิก็เกิดขึ้นแรงเข้า ตามธรรมชาติ ธรรมดา เป็นเหตุให้เขาเรียกว่า
ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้น ด้วยอำนาจปัญญา คือทำอย่างนี้ นี่มันมีผลเหมือนกัน คือว่า ทำลายกิเลส เหมือนกัน เราก็เอาอย่างนี้ดีกว่า ที่เรียกว่า ทำอย่างร่ำรวย มีผลงานมาก เพราะ พวกที่บรรลุ
ธรรมะ ตรงที่ หน้าที่นั่งของพระพุทธเจ้า ชั่วไม่กี่นาทีนั้น ก็แบบนี้ ทั้งนั้น มันเป็นแบบคิดพิจารณา หรือ วิปัสสนานำหน้า แต่ว่า ถ้าเขาเป็น คนมีนิสัย มีอุปนิสัย มีจิต ลักษณะเหมาะสม ที่เขาอาจจะมีสมาธิ มากมาย เต็มที่ก็ได้ เขาจึงไม่ต้องการ ถ้าบรรลุธรรมะเป็นที่พอใจ ไม่มีความทุกข์ อะไรเสียแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจ ที่จะไปหัดสมาธิ กันทำไมอีก ทั้งๆที่ คนนั้น ถ้าไปหัดสมาธิ แล้วก็จะได้ มากมายทีเดียว คนได้บรรลุธรรมะ ชนิดที่ทำความดับทุกข์ได้ จะสนใจที่จะไปหัดสมาธิ ทำไมอีก มันก็มี บ้านเรือน อยู่พอสมควร แก่อัตภาพแล้ว จะไปหาไม้ หาอิฐ หาปูน อะไรมากองไว้ ทำไมอีก เป็นอย่างนี้ เป็นต้น


แล้วก็มีกรณีพิเศษ คือว่า คนที่ได้บรรลุพระอรหันต์ โดยไม่ได้ไปทำวิปัสสนา ที่ในป่า ที่ไหน บรรลุตรงหน้าพระพุทธเจ้านั้น เขาแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ได้ มีปฏิสัมภิทา มีอะไรต่างๆ นี้ก็เป็นได้ เพราะว่า จิตใจคนนั้น พิเศษมาแต่เดิม พอรู้ธรรมะในส่วนดับทุกข์สิ้นเชิง แล้วก็รู้เรื่องอื่น ที่เกี่ยวข้องกัน แล้วก็มีจิตใจที่เป็นสมาธิ ขนาดแสดงฤทธิ์ได้ โดยในตัวเองได้ ไม่ต้องไปฝึกโดยเฉพาะ

เดี๋ยวนี้ คนเรามันหมดปัญญา หมดท่าเข้า ก็เลยคว้า คว้าไปตามเรื่อง คว้าไปตามเรื่อง คือว่า ตามที่มีสอน มีแนะ มีสอน อยู่กันเป็นแบบพิธีรีตอง เป็นธรรมเนียมประเพณี ฉะนั้นจึงเรียกว่า กระท่อนกระแท่น เหมือนที่ผมเรียกเมื่อตะกี้ มันกระท่อนกระแท่น, กระท่อนกระแท่น เหมือนอย่างว่าในรายที่หาไม้ หาปูน หาเหล็ก หาสัมภาระมากๆ อย่างนี้ แล้วมันกระท่อนกระแท่น ก็ตรงที่ว่า ไม่มีความรู้เลยว่า จะใช้ไม้ อย่างไหน สักกี่อัน จะใช้ปูนสักเท่าไร ใช้อิฐสักเท่าไร มันกระท่อนกระแท่นตรงที่ หาอันนั้น มากเกินไป หาอันนี้ น้อยเกินไป บางอย่างไม่ได้หาเลย อย่างนี้เป็นต้น ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบรรลุธรรมะ กันจริงๆ เดี๋ยวนี้ มัน กระท่อน กระแท่น แบบนี้

ความรู้ทางปริยัตินั้น ก็กำลังขยายกันออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ จะทำวิปัสสนานี้ ก็ต้องเรียนอภิธรรม อภิธรรมนั้น คือ ปริยัติอย่างยิ่ง ปริยัติแห่งปริยัติทีเดียว เพราะอธิบายคำมันมากไป นี่ทำวิปัสสนา ก็ต้องเรียนอภิธรรม อย่างนี้เป็นต้น แล้ว หลักสำหรับวิปัสสนานั้น เท่าที่มีอยู่ ในพระไตรปิฎก ก็เหลือเฟือ แสนจะเหลือเฟือ ที่แท้ต้องการเพียงหลัก ในบางสูตร เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องการ คำอธิบาย ทำนองปริยัติให้มาก ออกไป เรื่องภพ เรื่องภูมิ เรื่องโลก เรื่องส่วนแยกของ
ขันธ์ ของธาติ อายตนะ จนเป็นวิทยาศาสตร์ หลับหูหลับตา ตัวเองก็ไม่เข้าใจ ได้แต่ท่องได้ เท่านั้นเอง


วิปัสสนาแบบสวนโมกข์
ทีนี้อยากจะพูดให้เข้าเรื่องเสียที ที่เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับสมัยนี้ ที่จริง ก็เคยพูด มาคราวสองคราวแล้ว ผมจำได้ ว่าใช้วิธีที่มันเหมาะ สำหรับ คนสมัยนี้ แล้วก็ย้ำ ย้ำเป็นหลัก เป็นคำ
สำคัญ ว่า พระเณร อย่าเลวกว่า ชาวบ้าน ยังจำได้หรือเปล่า? ว่าพระเณร อย่าเลว อย่าเหลวไหลกว่า ชาวบ้าน หมายความว่า เมื่อชาวบ้าน ต้องทำงาน เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย อย่างชาวบ้าน ก็บรรลุธรรมะได้ ดังที่ปรากฏ อยู่ในพระคัมภีร์นั้นๆ มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วบรรลุธรรมะ ที่ตรงนั้นได้ ทั้งที่เป็นฆราวาส และฆราวาสบางคน ก็เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อยู่ในบ้านเรือน นับจำนวนไม่ไหว เมื่อชาวบ้าน ที่ยังทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เป็นอย่างนี้ ได้แล้ว พระเป็นไม่ได้ มันก็เรื่อง เหลวไหล สิ้นดี ฉะนั้น อย่าอวดดิบอวดดี ให้มันมากไป นักเลย เอาแต่พอ
เหมือน ที่ชาวบ้าน เขาได้กัน ก็ดีโขอยู่แล้ว


นี่จงเกิดความคิด ที่ฉวยโอกาส เอาการงาน เป็นวิปัสสนา หรือว่า เอาวิปัสสนา ในการงาน มีวิปัสสนา ในการงาน หรือว่า ทำการงาน ให้เป็นวิปัสสนา เสีย นี้ตั้งชื่อเสียใหม่เลยว่า วิปัสสนา
กรรมกร หรือ วิปัสสนาแบบสวนโมกข์ วิปัสสนาของเรา วิปัสสนาแบบกรรมกร ถ้าใครถามเมื่อไรที่ไหน ก็ตอบว่า วิปัสสนาสวนโมกข์นี้ คือ วิปัสสนา แบบกรรมกร ทำการงาน ให้เป็นวิปัสสนา
มีวิปัสสนา ในการงานนั้น แต่ต้องการงาน อย่างแบบของผม


แล้วหลักใหญ่ๆ ก็พูดอยู่แล้วว่า ต้องเป็นความ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ให้ยกหู ชูหาง อย่ามีความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าอะไร มาช่วยกำราบอันนี้ได้ อันนั้น ใช้ได้หมด ทีนี้ การงาน ความเหน็ดเหนื่อย ความเสียสละ นี่เป็นพื้นฐาน ถ้ายังไม่ยอมเสียสละ แล้วมันยังเลวเกินไป มันเป็นเรือโกลน ที่ใช้ไม่ได้ แม้แต่จะเป็น เรือโกลน คือโกลนมาไม่ดี

ฉะนั้น อย่างน้อย ต้องมีการแสดง ความไม่เห็นแก่ตัว หรือ ความเสียสละ ความเห็นแก่ตัว ในระดับที่เพียงพอ ให้ดูก่อน เป็นข้อแรก แล้วจึง ขยับขยาย ให้มันยิ่งขึ้นไป โดยแนวนั้น โดยไม่ต้อง เปลี่ยนเรื่อง ให้มันหลายเรื่อง เมื่อถือเอา การงานเป็นวิปัสสนา แล้วก็ให้มันเป็น วิปัสสนา เรื่อยไป จากการงานนั้น

เราต้องการ ให้ทำงานชนิดที่เป็น การเสียสละ จริงๆ ฉะนั้น จึงบัญญัติไว้ชัดว่า ต้องไม่หวังอะไรตอบแทน อย่าหวังจะได้ อะไรตอบแทน อย่าหวัง จะได้คำ ขอบใจ แม้แต่คำว่า ขอบใจ ก็อย่าหวังจะได้ ความเอาอกเอาใจ พะเน้าพนอ อะไรบางอย่าง ก็อย่าหวังจะได้ แล้วเวลาเจ็บไข้ ถ้าสำหรับผมนี้ เป็นเจ้าของงานจะมีการตอบแทน อะไรบ้าง ก็ขอให้คิดว่า มันเป็นหน้าที่ตามวินัย ที่เพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน จะต้องช่วยเหลือคนเจ็บไข้ แต่ไม่ใช่ธรรมะ ฉะนั้น ให้คงถือ อยู่ไปตามเดิมว่า พวกที่เหน็ดเหนื่อยนั้น ไม่ได้รับอะไรตอบแทน แม้แต่สิ่งของ แม้แต่ขอบใจ แม้แต่ การเอาอกเอาใจ การเอาใจใส่ อย่าหวังเลย ให้มันเป็น การกระทำ เพื่อขูดเกลา ความเห็นแก่ตัว ไปโดยส่วนเดียว ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อหน้าที่ ตามหลักจริยธรรมสากล ไปท่าเดียว แต่ผมเรียกว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ไปท่าเดียว

ทีนี้ พูดถึงงานที่ทำ ไม่ใช่ต้องเป็น งานแกะสลัก หรือวาดเขียน เหมือนกับ พระคุ้มดีคุ้มร้าย องค์นั้นพูด งานอะไรก็ได้ งานอะไรก็ได้ ทั้งนั้น นี่มันเป็นหลักตายตัว งานอะไรก็ได้ ขนทรายขนดิน
ขนหิน ทำอะไรก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แล้วมีหลักว่า เอาเหงื่อล้างกิเลส ก็แล้วกัน พอผมพูด ประโยคนี้ โปรเฟสเซอร์ฝรั่ง ชูมือสูง เต้นเร่าๆ ไม่เข้าใจ ขอให้ทำชนิดที่เอาเหงื่อล้างกิเลส ก็แล้วกัน
หมายความว่า เอาความ ไม่เห็นแก่ตัว นี่ ล้างความ เห็นแก่ตัว ก็แล้วกัน ไม่ใช่ต้องเป็นงานนั้นงานนี้ แต่ทีนี้เมื่อต้องทำงานแล้ว ควรจะทำงานที่ถนัด ต้องทำงานที่ถนัด ดีกว่า ทำงานที่ไม่ถนัด
เพราะทำได้ดีกว่า มันไม่เหนื่อยเปล่า มันยังได้ผลดีกว่า แล้วงานที่ถนัดนี้ มันขยับขยายได้ แต่ว่าเป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ แก่พระศาสนามากที่สุด ก็แล้วกัน มันอาจจะทำอย่างอื่นก็ได้ แต่
เราจะเน้นมันมา ปรับปรุงมันมา โยงมันมา ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์แก่ศาสนาได้มากที่สุด ก็แล้วกัน


ทีนี้คนอย่างเรายังไม่มีปัญญาทำอย่างอื่น จึงคิดว่าการแสดงภาพเขียน หรือ ภาพสลักนี้ ดีที่สุด สำหรับเรา เวลานี้ ใช้คำว่า เวลานี้ ช่วยจำไว้ด้วย เวลาอื่น ไม่รับรอง เวลานี้ ในสภาพที่ เหมาะสมที่สุดนี้ งานนี้ จะช่วยเผยแผ่ สิ่งที่ควรจะเผยแผ่ ได้ผลมาก เกินค่าของเหงื่อที่เสียไป เพราะว่างานนี้จะมีประโยชน์ทั้งในทางธรรมะ ในทางประวัติ ในทางโบราณคดี ในทางศิลป กระทั่ง ในทางวัฒนธรรมของคนไทย เพราะทำให้รู้อะไรทุกอย่าง ในแง่เหล่านี้ วัฒนธรรมไทยงอกออกมาจากวัฒนธรรมอินเดียอย่างไร ถ้าคนมีหูตาฉลาด จะดูได้จากภาพหินสลักเหล่านี้ ดูในแง่ศิลปก็ได้ ถ้าดูในแง่ของพุทธประวัติ ก็เห็นได้ไม่น้อยกว่าที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในประเทศไทย เพราะอย่างนี้ ยังไม่มีในประเทศไทย มันเพิ่มส่วน ที่แปลกเข้ามา

ดูในแง่ธรรมะ ก็เรื่องความว่างนี้ ดูได้ดีกว่า เพราะเขาไม่แสดงรูป พระพุทธเจ้า คงทิ้งเป็น ความว่าง โดยหลักว่า พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่แสดงได้ด้วยรูป ด้วยสิ่งที่มีรูป นี่อย่างนี้ เป็น
ไปในฝ่ายธรรมะนะ


ทีนี้ประวัตินั่นประวัตินี่ ที่เป็นเรื่องราวไม่มีในหนังสือพุทธประวัติ ที่อ่าน นี่ดูซิ มาเพิ่มเข้าอีก ในส่วนที่เป็นพุทธประวัติ แล้วในทางโบราณคดีทางอะไรต่างๆ ซึ่งเราพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์
มาก จึงปรับปรุง ให้เหงื่อนั้น เสียไปในลักษณะอย่างนี้ นี่เรียกว่า ยิงทีเดียวได้นกหลายตัว ทำการงาน เอาเหงื่อล้างกิเลส แล้วผลของเหงื่อนั้น เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย ไม่ใช่ให้แก่ตัวเองอย่างเดียว ฉะนั้น เราถือเอา ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน และเมื่อใช้วิธีนี้ ผมว่า เหมาะที่สุด แก่โลก แก่มนุษย์ ในยุคปรมาณู ยิ่งกว่าจะนั่งหลับหู หลับตา ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไปนั่งหลับหูหลับตา แต่กลางคืน ก็พอแล้ว นี่กลางวัน ใช้วิธี เอาเหงื่อ ล้างกิเลสนี้ ก็ถมไปแล้ว มันลึกซึ้งกว่า มีประโยชน์ กว้างขวางกว่า


ฉะนั้น อย่าได้คิดว่า จะหัดเขียน หัดแกะ หัดทำ นี่เพื่อจะไปเป็น อาชีพข้างหน้า อย่างนั้น มันทำลายตัวเอง ให้ตกต่ำลงไป แล้วเหงื่อนั้น จะไม่ล้างกิเลส เว้นไว้เสียแต่ว่า ทำเพื่อไม่ให้หวังอะไร
ตอบแทน หวังแต่จะ ให้ผู้อื่น ได้ตะพึด นี่เรียกว่า เหมือนกับตายแล้ว เรานี้ตายแล้ว ฉะนั้น คำกลอน บทนั้น ยังคงใช้ได้ อยู่เสมอ ทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงาน ให้ความว่าง กินอาหาร ด้วยความว่าง ตายแล้วตั้งแต่ทีแรก เป็นคนตาย อย่ามี หู หัว หาง ไว้ยกกันอีก นี่เรียกว่า คนตาย


ทีนี้ ปัญหามันที่อยู่ว่า หัวหางนี้ มันมีสลอนไป ยกกันสลอนไป มีปัญหาเท่านี้ ไม่มีทางอื่น ที่จะกำราบมัน นอกจากว่า มีหลักที่จะทำลาย ความเห็นแก่ตัว โดยทำตน ให้เป็นคนต่ำ ทำตนให้เป็น
คนแพ้ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร นี้ดีที่สุด ยกหูชูหาง เมื่อไรเป็นมารเมื่อนั้น แพ้เมื่อไร เป็นพระเมื่อนั้น


นี่เห็นได้แล้วว่า มันเกินไป เกินกว่า พระคุ้มดีคุ้มร้าย ชนิดนี้ จะเข้าใจ อุดมคติของเราได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่จะต้องพูดกับแก ก็เลยไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว กับพระ ๒-๓ องค์นี้ เพราะ
มันไม่มี ประโยชน์อะไร จะพูด แต่ถ้าคุณยังอยากจะพูด ก็อย่าพูดอะไรให้มากนัก เว้นแต่ว่า เราสมัครเป็น กรรมกร มีวิปัสสนา ในการงาน ปรับปรุงการงาน ให้เป็นวิปัสสนา


คำว่า กัมมัฎฐาน ก็แปลว่า การงาน กัมมัฏฐาน แปลว่า การงาน เพราะฉะนั้น การงาน ก็เป็น กัมมัฎฐาน ได้ด้วย ถ้าว่า การงานนั้น ไม่เพิ่ม ความเห็นแก่ตัว

นี่ ระวัง ๆ ๆ อย่าให้การงานอะไร เพิ่มความเห็นแก่ตัว เพิ่มความหวัง ที่จะได้นั่นได้นี่ ยอมเป็นผู้ สิ้นเนื้อประดาตัว อยู่ตลอดเวลา ให้เหมือนกับ ตายแล้ว เสร็จแล้ว อยู่ตลอดเวลา ยิ่งดี เป็น
หลักง่ายๆ ที่ถือปฏิบัติได้ว่า หูหาง มันจะไม่ชูขึ้นมาได้


นี่รวมความแล้ว ผมมองเห็นไปแต่ในลักษณะอย่างนี้ว่า วิธีนี้เท่านั้น ที่ประหยัดที่สุด ประหยัดอะไรที่สุด แล้วก็รวดเร็วที่สุด แล้วก็ง่ายดายที่สุด แล้วก็จะไม่ให้พระนี้ เลวกว่าชาวบ้าน เหมือน
ที่พูดแล้ว โดยวิธีนี้ ฉะนั้น จึงถือว่า วิธีนี้คงจะเหมาะแล้ว สำหรับมนุษย์ ในยุคปรมาณูนี้ ภิกษุสามเณร ในยุคปรมาณูนี้ ใช้ไฟฉายโก้ๆ แทนที่จะใช้ โคมผ้าใส่จอก น้ำมันเนย มันเปลี่ยนไปเท่าไร ฉะนั้น การงาน มันก็ต้อง เปลี่ยน บ้างซิ ที่อยู่ เป็นอย่างไร มันก็ผิดไปกับ ครั้งพุทธกาล ในกุฎิมีอะไร มีตำราท่วมหู ท่วมหัว สารพัดอย่าง มีเครื่องใช้ บางอย่าง ซึ่งไม่ใช่ของพระ มันก็เรียกว่า ผิดไปมากแล้ว สำหรับมนุษย์ ในยุคปรมาณู แล้วไปดูกุฎิ กุฎิอะไร ของพระเถระ เจ้าใหญ่นายโต มีอะไรผิดไป จากครั้ง พุทธกาล มากไปกว่า พวกเรา ที่นี่ อีก เรื่องมันไปกันใหญ่แล้ว เป็นยุคจรวดดาวเทียม ไปด้วย เหมือนกัน เพราะว่า ผู้ปฏิบัติ ที่จะทำลายกิเลสในจิตใจ น่าปรับปรุง ให้มันทันกัน กับยุค ที่มัน พรวดพราด แบบนี้


ฉะนั้น จึงปรับปรุงในทาง เอา การงาน เป็นวิปัสสนา มีวิปัสสนา ในการงาน เอาเหงื่อ ล้างกิเลส มีหลักสั้นๆ ๓ แบบ วิปัสสนาญาณิกะ แม้แต่ จะหลุดพ้น ตามแบบ ปัญญาวิมุติ ล้วนๆ ก็ยังดี อย่าไปหวัง ให้มากกว่านั้น แล้วอันนี้ มันเหมาะกับ ยุคดาวเทียม มีปัญญาเพียงพอ ที่จะตัดกิเลส อยู่ทุกวัน ก็พอแล้ว การไปนั่งหลับตา ตามโคนต้นไม้นั้น มันก็ทำตามโอกาสเถอะ อย่าไปมัวเมาแต่อย่างนั้นอย่างเดียว เหมือนกับพระที่ว่าแกไม่เข้าใจคำนี้ เราสนใจมาตั้ง ๔๐ ปี แล้ว เรื่องในคำนี้ คำคำนี้ ก่อนแกเกิด ฉะนั้น เรื่องนี้ จึงไม่มีทางจะพูดกันรู้เรื่อง

การเป็นอยู่แบบวิปัสสนากรรมกร
วันนี้เราถือโอกาสตั้งชื่อ การเป็นอยู่แบบนี้ว่า วิปัสสนากรรมกร คุณเห็นแล้วนี่ว่า คนที่มาที่นี่ โดยมากเขาถามว่า ที่นี่ทำวิปัสสนาไหม? ก็บอกเขาเลยว่า วิปัสสนากรรมกร เข้าใจไม่เข้าใจ ก็ตามใจเขา เขาไม่มีเวลาที่จะฟังคำอธิบาย

เอาเหงื่อล้างกิเลส ไม่เอาเปรียบข้าวสุก ไม่เอาเปรียบข้าวสุก ของชาวบ้าน ถ้าทำเนิบๆ นาบๆ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ตลอดปี ตลอดชาติ ก็ไม่เห็น ได้อะไรขึ้นมา ต้องทำจริง และรุนแรง
ทุกอย่าง ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทางสติปัญญา
มันจึงจะทันกัน หรือสมกันกับ โลกในยุคดาวเทียม นี้ ขอแต่ว่า เป็นไปใน ทางถูกต้อง ก็แล้วกัน เป็นไปในทาง ทำลาย ความเห็นแก่ตัว มี
เท่านั้น มีข้อเดียวเท่านั้น


ควบคุมทุกอย่าง ให้เป็นไปแต่ ในทาง ทำลาย ความเห็นแก่ตัว นับตั้งแต่ จะกินอาหาร จะอาบน้ำ จะไปถาน ทุกอย่างแหละ ระมัดระวังตัว ให้ดี ให้เป็นการ ทำลายความเห็นแก่ตัว เข้าส้วมแท้ๆ มันก็มีคนเห็นแก่ตัวแล้ว แล้วไม่ต้อง แก้ตัว พระเณร ทั้งนั้น ที่ใช้ส้วม ไม่มีใครมาช่วย เข้าส้วม ให้เลอะเทอะ แล้วมันก็มีแต่ ความเห็นแก่ตัว เข้าแล้ว นี่เป็นตัวอย่างนะ แล้วอย่างอื่นๆ เช่นว่า ไม่มีความเป็น ระเบียบเรียบร้อย หรือมัน ไม่มีประโยชน์ หรืออะไร นี้ทางหนึ่ง

แล้วอีกทางหนึ่ง ทำลายประโยชน์ ให้หมดเปลืองไป โดยไม่จำเป็น นี้ก็เป็นเรื่อง ความเห็นแก่ตัว ทางหนึ่งไม่สร้างประโยชน์อะไรขึ้นมา ก็เป็นความเห็นแก่ตัว ทางหนึ่ง มันทำลายประโยชน์
ของผู้อื่น ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น หามาไว้ นี้ก็เป็นความเห็นแก่ตัว จับจ่ายใช้สอย บางสิ่งบางอย่าง ในลักษณะที่จะยกหูชูหางของตัว โดยไม่ประหยัด สิ่งเหล่านั้น นี่ก็เป็นเรื่อง ความเห็นแก่ตัว


ขอให้วัดทั้งวัด นี้เป็นลักษณะ เป็นนิมิต เป็นเครื่องหมายที่จะวัดว่า มีความเห็นแก่ตัว หรือไม่เห็นแก่ตัว แล้วให้รู้ไว้ว่า เรามีหลักใหญ่ๆว่า จะสร้างวัดนี้ให้พูดได้ ให้ก้อนหินพูดได้ ให้ต้นไม้พูดได้ ให้อะไรๆ มันพูดได้ คือว่า ให้มันแสดงอะไร ที่จับใจผู้เห็น และเกิดความรู้สึกในข้อนี้ เป็นความเงียบ ความสงบ ความหยุด ความว่าง อะไรก็แล้วแต่

ฉะนั้น ถ้ามีทุกๆอย่าง ที่ส่อลักษณะ อย่างนั้น อย่าให้มี สกปรก รกรุงรัง หรือเกิด ความคิดไปทางอื่น ที่เราให้ต้นไม้พูดได้ ให้ก้อนหินพูดได้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ ฉะนั้น จะวางก้อนหิน
สักก้อน ก็วางให้มัน เกิดความหมาย ถ้าโง่เกินไป มันก็เป็นบาป ของคนนั้น ไม่ใช่บาปของเรา เราวางไว้ ในลักษณะ ที่มันจะ มีความหมาย แล้วเขา ไม่รู้ความหมาย นั้น มันไม่ใช่ บาปของเรา นั้นมันบาป ของคนที่มานั้นเอง


เดี๋ยวนี้คนส่วนมาก ก็ไม่ได้ประโยชน์ ถึงขนาดนี้ เห็นๆอยู่แล้ว พันคน จะได้สักคนหนึ่ง เท่านั้น ที่จะรู้สึก เกิดประทับใจ จากสิ่งต่างๆ ที่แสดงอยู่ แล้วรู้สึกว่า ความหยุด ความไม่ยึดมั่น นี้มันดี ไม่ค่อยมีใครรู้ ไม่ใช่ว่า ก้อนหินจะมีจิต มีวิญญาณ ที่จะคิดนึกรู้สึกอะไรได้ แต่ว่า ลักษณะบางอย่าง ที่เราอาจจะ ถือเอาประโยชน์ได้ แล้วมันก็เป็น ประโยชน์

ในอรรถกถา มีภิกษุองค์หนึ่ง บรรลุพระอรหันต์ เพียงแต่สักว่า เห็นดอกมะลิป่า ร่วงลงมาจากต้นนั้น ดอกมะลิป่า ไม่ใช่มีชีวิตจิตใจ ร่วงตามธรรมดา ธรรมชาติ ของมัน แต่พระองค์นั้น มองไปแง่ ที่มีความหมาย ไปในทางไม่เที่ยง ไม่มีความหวังอะไรเลยในสิ่งเหล่านี้ ในสิ่งที่เอร็ดอร่อย สวยงาม อะไรนี้ ฉะนั้นจึงเป็น พระอรหันต์ ได้ โดยเห็น สิ่งที่มันทำอะไรไป ตามธรรมชาติ ของมัน ไม่มีจิต มีใจ อะไร

นี้เรามัน ไม่เป็นอย่างนั้น พอมีอะไรหล่น มีอะไร มันก็ไม่รู้สึกเพราะว่า ใจเรา มันเตลิดเปิดเปิง ไปทางไหนเสียแล้ว ไม่มีโอกาส ที่จะเห็น ดอกไม้ป่าร่วง แล้วเป็นพระอรหันต์ได้เสียแล้ว เพราะว่า ใจของเรา กระด้าง และ เตลิดเปิดเปิง ไปไกลแล้ว จึงเหมาะแล้ว ที่จะเอาเหงื่อ ล้างกิเลส เพราะมันมีแต่ ความกระด้าง มากเสียแล้ว ไม่ละเอียด ละมุนละไม เหมือนตัวอย่างนั้น

แต่ว่าโดยทั่วไปนี้ ให้มองดู มันเงียบ มันหยุด ต้นไม้นี้ มันกินอาหารอย่างนี้ มันกินอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เรามันกินอาหาร อย่างยึดมั่นถือมั่น วันนี้มีอย่างนี้ มีแกงมีกับอย่างนี้ ถึงปากไม่พูด
ก็นึกอยู่ในใจ ว่านี้อร่อย อยากจะได้อีก มีแต่กินอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เหมือนต้นไม้ มันดูดซึม ไปตามธรรมชาติ ตามระเบียบ สม่ำเสมอ ไม่มีตัวกู-ของกู เหมือนคน


ถ้าใครดูในแง่ ดังกล่าวนี้ออก ก็แปลว่า คนนั้นได้ฟัง ต้นไม้พูด ได้ยินต้นไม้พูด นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกมากมาย เกี่ยวกับต้นไม้ก็ดี ก้อนหินก็ดี มีอยู่มากมาย ฉะนั้นให้ดูๆ ไว้

เรามีหน้าที่ มากกว่าต้นไม้ เรามีอะไรมากกว่าต้นไม้ เราต้อง ระมัดระวังกว่า ต้องใช้เวลา ให้มีค่ากว่า ใช้คำว่า ต้อง นี้ไม่ถูก แต่มันก็ต้องใช้ คำ นี้ เพราะ มันกระด้าง เกินไปนัก เรียกว่า มันควร "ควรกระทำ" ให้มากกว่าต้นไม้ ดีกว่าต้นไม้ อยู่ในป่า ก็ไม่เห็นป่า ถ้าไม่มีสติปัญญา ไปนั่งโคนต้นไม้ ก็ไม่ได้ยินต้นไม้พูด ฉะนั้น สร้างสติปัญญา ให้เพียงพอ อยู่ตรงนี้ก็จะได้ยินต้นไม้พูด หรือว่า ได้เห็นอะไร เห็นต้นไม้ แสดงธรรม

ถ้าทำด้วย ความยึดมั่น ในรูปในแบบ ให้มันฝังตัวเข้าไปในต้นไม้ ขุดโพลง เข้าไปอยู่ มันก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้จักต้นไม้ ไม่รู้จัก ประโยชน์ ที่จะได้จากต้นไม้

โคนไม้ หรือว่า ที่สงัดอื่นๆ ที่เขา รวมเรียกกันว่าที่ สงัด นี้ หมายถึง สิ่งแวดล้อมจิตใจ ไปในทางหยุด ไปในทางว่าง ไปทางสงบสงัด แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อเรา อยู่ในป่าเสียเองแล้ว ก็ควรจะได้รับประโยชน์อันนี้ อย่าเป็นเหมือนกับว่า มันไม่รู้สึกเสียอีก นี่เรียกว่า อยู่ในป่าก็ไม่เห็นป่า ฉะนั้น จงอยู่ในป่าเห็นลักษณะเห็นธรรมชาติ เห็นความจริงอะไรเกี่ยวกับป่า ก็เรียกว่า อยู่ในป่าแล้วก็เห็นป่า นี้ก็ทำไปตามโอกาส

ส่วนแรงงานยังเหลือ ก็ใช้ไปในทาง ทำบทเรียน ที่ไม่เห็นแก่ตัว นี่แรงงาน ที่เหลือ จะไปทิ้ง เสียที่ไหน? ค่าข้าวสุก ของชาวบ้าน จะเอาไปทิ้ง เสียที่ไหน? ถ้าเรามีเวลา เหลือพอ ที่จะใช้มัน ก็ใช้มัน ไปในทาง ที่เป็นประโยชน์ ของโลก เป็นส่วนรวม เวลาวันละ ๒-๓ ชั่วโมงก็ตามนี้ ทำสิ่งที่ มันเป็นประโยชน์ แก่โลก เป็นส่วนรวม

การทำงานก็เพื่อประโยชน์ที่พอเหมาะพอดี
อยากจะยืนยันว่า การเขียนภาพ การสลักภาพนั้น ไม่ใช่การเขียนใหม่ ไม่ใช่สลักภาพ ของพระบ้าๆ บอๆ องค์ที่ว่านี้ ที่ใช้ชื่อว่า ธรรมกาโม อย่าเห็น เป็นเพียง เรื่องเขียนภาพ หรือสลักภาพ ให้เป็นเรื่องที่ว่า เสียสละ เพื่อประโยชน์ แก่เพื่อมนุษย์ อะไรก็ได้ อะไรถนัด ก็ทำอันนั้น ก็แล้วกัน อะไรมีค่าสูงกว่า เราเลือกเอาอันนั้น อะไรที่เป็นประโยชน์โดยเร็ว เราเลือกเอา อันนั้นเอีก ผมจึงบอกว่า จะเป็นงาน ทำให้มี สิ่งที่ ในประเทศไทย ยังไม่มี เพื่อให้พุทธบริษัท ได้เห็น สิ่งเหล่านี้ ก็มีเท่านั้นเอง ไม่ได้หวังอะไร มากไปกว่านั้น

ลำพังผมคนเดียว จะทำอะไรได้ หลายๆ คน ก็ช่วยกันทำ เป็นการ ใช้แรงงาน ส่วนเหลือ ของร่างกาย ให้หมดไป แต่แล้วอย่าลืมว่า ในขณะนี้ ในเวลาอย่างนั้น แหละ มีวิปัสสนา ที่ต้องระวัง
ให้ดี คือ ระวังหู ระวังหาง ให้ดี อย่าให้ยกขึ้นมา เพราะเหตุนี้ มีวิปัสสนา อยู่ที่เหงื่อไหล นั้นด้วย แล้วสำคัญเสียด้วย ดีกว่าที่ไปนั่งตาก ลมเย็นๆ ที่โคนไม้ มันจะเคลิ้ม ไปในทางอื่น ไม่แน่นอนว่า มันขูดเกลา ความเห็นแก่ตัว ด้วยซ้ำไป เดี๋ยวไปหลงใหล ในทางความสงบ เพลิดเพลิน แล้วนอนหลับ แบบหนึ่ง ไปเสีย ก็ไม่ได้อะไร หรือจะทำสมาธิ กระทั่งเกิดฌาณ เกิดสมาบัติ แล้ว
มันก็จะเหลือใช้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เอาสมาธิ เท่าที่จำเป็น แก่การงานของเรา


ยกตัวอย่าง เหมือนว่า เรามีเครื่องสีข้าว เล็กๆ เท่านี้ ซึ่งมันต้องการ แรงฉุดสัก ๑๐ แรงม้า แล้วเราไปซื้อ เครื่องทำแรงม้า มามาก นี้จะบ้าหรือจะดี คิดดูเท่านี้ ซื้อเครื่องทำแรงม้ามา ๑๒
แรง ที่ต้องการเพียง ๑๐ แรงม้า มันจะบ้า หรือ จะดี จึงว่า ทำให้มันเหมาะพอดี ให้มันไปของมัน โดยธรรมชาติ แล้วมันก็พอเหมาะพอดี แล้วมีโอกาส ที่จะได้รับ ผลสูงสุดเต็มที่ แล้วก็เร็วกว่า จะหาเงินไปซื้อ เครื่องทำแรงม้า มาได้ มันก็แย่นะ พอได้มา แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ประโยชน์จริงๆ มันอยู่ตรงที่ มันสีข้าว นั้นให้ได้


ฉะนั้น เมื่อเรา ทำลายตัวกู-ของกู นี้ให้ได้ แม้ด้วยความรู้เท่านี้ แม้แต่ ด้วยสมาธิเท่านี้ แม้ด้วยอะไรเท่านี้ ทำไปให้ได้ นั่นแหละดี

นี่เพราะเหตุที่ ชาวบ้านเขามีสมาธิพอดี มีปัญญาพอดี เขาจึงสามารถ บรรลุธรรมะได้ ในเพศฆราวาส เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ได้ หรือว่า พอไปเฝ้า พระพุทธเจ้า เดี๋ยวใจ
เป็นพระอรหันต์ได้ เพราะมันมี แรงงานพอดี มันไม่เหมือนกับ คนบ้าๆ บอๆ มันมีอะไรแง่นี้ แง่นั้น ล้วนแต่เฟ้อ เดี๋ยวนี้ระวังให้ดี กำลังจะเฟ้อเรื่องวิชาความรู้ ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว แล้วเห่อตาม พวกคนสมัยใหม่ รู้นั่น รู้นี่ มากไปแล้ว ไปรษณีย์ที่มา ผ่านผมนี้ รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ กำลังจะมี เฟ้ออะไรบางอย่าง ในทางหนังสือ หนังหา นั่นแหละ เป็นเรื่องทำลายตัว โดยที่ตัวคิดว่า จะส่งเสริมตัว แต่เป็น เรื่องทำลายตัว โดยไม่รู้สึกตัว


เอาละ สรุปความทีว่า เราเรียก ระบบของเรา หรือ อุดมคติของเรา ว่า วิปัสสนากรรมกร แต่ไม่ใช่ กรรมกรเหมือนคนอื่น กรรมกร ที่ความว่างเลี้ยงไว้ กรรมกรของความว่าง เรียกร้อง
เอาอะไรไม่ได้ เรียกร้องเอาอะไรมาเป็น ตัวกู-ของกู ไม่ได้ เป็นของความว่างทั้งหมด แล้วอย่างน้อย ก็จะมีความเบาสบาย ไม่แพ้ลูกสุนัข ลูกสุนัขที่กำลังเล่น มันไม่มีเป็นตัวกู-ของกู มันสบาย


ข้อมูลจากเวปไซต์ http://www.buddhadasa.com/dhamanukom/labour157.html