พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Friday 20 July 2012

ร้อยธรรมคำสอน - พระไพศาล วิสาโล

1.มองด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา ไม่ยึดติดและปฏิเสธ คนเราทุกข์เพราะว่ายึดติดสิ่งที่น่าพอใจและปฏิเสธสิ่งที่ไม่น่าพอใจ สิ่งที่ผ่านไปแล้วแทนที่จะยอมรับความจริงก็ไม่ ยังหวนหาอาลัยกับสิ่งที่ผ่านไป และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ยอมรับมัน

2.ใคร ๆ ก็อยากได้สิริมงคล แต่สิริมงคลที่สูงสุดนั้นไม่ใช่การมีของดี แต่คือการได้ทำความดี คิดดี พูดดี ทำดี อันนี้คือมงคลสูงสุดในพุทธศาสนา หากว่าเราทำความดีอย่างนี้แล้ว ก็มั่นใจว่า ชีวิตจะเจริญงอกงาม

3.เมื่อเราให้ทานมาก ๆ เราก็กลายเป็นคนไม่ที่ไม่ห่วงไม่ตระหนี่ เป็นที่มีน้ำใจแล้วก็มีความสุข เพราะว่าชีวิตไม่ยึดติดกับสิ่งของอย่างเมื่อก่อน และเมื่อเรารักษาศีล เราไม่ไปเบียดเบียนใคร เรารู้จักทวนกระแสกิเลส ทวนกระแสความอยาก ความโกรธในใจ จิตใจเราก็เข้าสู่ความปกติได้ง่ายขึ้น และเมื่อเราไม่ไปเบียดเบียนใคร จิตใจเราก็มีความสงบได้ง่าย

4.ทุกข์มีไว้ให้เห็นไม่ใช่มีไว้เป็น เห็นทุกข์ไม่ใช่เป็นทุกข์ ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม คนที่ไม่เข้าใจเจอปัญหาก็กลุ้ม ไม่ว่าในชีวิตการงาน ชีวิตครอบครัวเจอปัญหาเอาแต่กลุ้ม แต่ไม่ได้มองว่าเขามีไว้ให้แก้

5.ชีวิตที่ดี ชีวิตที่น่าสรรเสริญ ในพุทธศาสนา ไม่ใช่ชีวิตที่อยู่บนกองเงิน กองทอง หรือว่าเต็มไปด้วยโชคลาภวาสนา แต่เป็นชีวิตที่ไม่หวั่นไหวในยามขึ้นหรือในยามลง

6.ฝึกจิตให้ระลึกถึงความทุกข์ยากของผู้คน และแผ่ความปรารถนาดีออกไปให้คนทุกกลุ่มทุกเหล่า แม้แต่คนที่เราขุ่นข้องหมองใจหรือว่าไม่ชอบขี้หน้า หรือตั้งตัวเป็นศัตรูกับเรา เราก็แผ่เมตตาไปให้เขา อันนี้ก็เรียกว่า เมตตาภาวนา เป็นการทำให้เกิดจิตที่มีคุณภาพ เป็นกุศล

7.สิ่งที่น่าพอใจคือสิ่งที่เราต้องระวัง เพราะมันทำให้เราประมาท เวลาเรามีความทุกข์ มันมีความพยายามโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่จะพยายามหลุดพ้นออกจากสิ่งนั้น แต่เวลามีความสุขใจมันจะเข้าไปคลอเคลีย เข้าไปยึด เข้าไปหลง ทำให้เกิดความประมาทขึ้น ของเหล่านี้เป็นของชั่วคราว ถ้าเราหลงมันมันก็ทุกข์

8.สุขทุกข์นี่ไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอกนะ แต่มันอยู่ที่ใจของเราเป็นสำคัญเลย อยู่ที่ว่าเราจะมองอย่างไร เราจะวางใจอย่างไร ได้อะไรมามากมายก็เป็นทุกข์ได้ ถ้าหากว่าใจเรามันยังอยากได้มากกว่านั้น

9.ความมีน้ำใจ ความเสียสละมันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ผู้อื่นและตัวเอง คนที่รู้จักเอื้อเฟื้อผู้อื่น ก็จะเป็นคนที่สุขง่ายทุกข์ยาก คนเราถ้าหากว่าได้รู้จักเสียสละ เอื้อเฟื้อ เราจะพบว่าการเสียสละนั่นแหละ มันทำให้เกิดความสุขแก่ตัวเอง เป็นความสุขทางจิตใจ

10.บางครั้งก็ไปยึดเอาสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นมา เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ไปยึดว่ามันเป็นจริง อย่างเช่นเห็นเชือกก็ไปนึกว่ามันเป็นงู พอไปยึดว่ามันเป็นจริงเป็นจังก็กลัว  เป็นธรรมดาที่คนเราจะปรุงแต่งอะไรได้ แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้มันเห็นมันเราก็ไม่ปรุงต่อ แต่พอเราไม่รู้เราไปยึดเข้า มันก็กลายเป็นเรื่องที่หลอกเราเองทำร้ายเราเอง

11.เมื่อใดที่เราทำความผิดพลาด หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เราควรรู้จักขอโทษ การขอโทษไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ แต่เป็นการแสดงถึงความกล้าของเรา กล้าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อใดก็ตามที่เราขอโทษ นอกจากจะเป็นการเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ยังทำให้เราไม่มีสิ่งที่ค้างคาใจ ที่จะทำให้เรารู้สึกผิดหรือเป็นทุกข์

12.ถ้าเสียของก็ให้เสียอย่างเดียว อย่าให้เสียใจด้วย ถ้าเงินหาย ก็ให้หายแต่เงิน อย่าให้ใจหายด้วย ถ้าเจ็บป่วยก็ป่วยแต่กาย อย่าให้ใจป่วยด้วย ผู้มีปัญญาเมื่อประสบกับความสูญเสีย ก็จะสูญเสียเพียงอย่างเดียว แต่ว่าใจยังเป็นปกติได้ นี่คือสิ่งที่เราทุกคนทำได้ หากว่ามีสติและมีปัญญา

13.ถ้ามีความยินดี พอใจในคำชม เวลาเจอคำตำหนิมันก็จะทุกข์ ยิ่งดีใจ พอใจ เมื่อได้นับคำชมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทุกข์เวลาถูกตำหนิมากเท่านั้น คนที่หัวเราะเสียงดัง มักจะร้องไห้เสียงดังด้วย คนที่หัวเราะเบา ๆ เวลาเจอเรื่องเศร้า มันก็จะร้องไห้เบา ๆ เหมือนกัน

14.สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ลำบากกว่านี้เยอะ แต่ทุกวันนี้เรามีทุกอย่างพรั่งพร้อม บริบูรณ์ แต่คนก็ยังโวยวาย เหมือนกับว่าโลกมันจะถล่มทลายให้ได้ อันนี้เพราะว่าไม่ได้เตรียมใจไว้ ใจมันก็ไม่ยอมรับ มันปฏิเสธ ที่จริงถ้าเริ่มทำใจยอมรับว่ามันเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น ใจมันก็นิ่งได้ ความทุกข์ของคนเรามันก็จะดิ้นที่จะปฏิเสธ ดิ้นที่จะผลักไสออกไป

15.รากเหง้าของความยึดติดทั้งปวด คือ ความยึิดติดหรือยึดมั่นสำคัญ หมายความว่าเป็นตัวกูของกู ยึดติดถือว่าเป็นตัวตน เป็นตัวของเรา อันนี้คือรากเหง้าของความทุข์ทั้งมวล ก็เรียกว่าเป็นตัวการใหญ่ที่อยู่ลึกที่สุดของบรรดาความยึดติดทั้งหลาย

16.เวลาตัดสินใจจะทำอะไร อย่าถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร แต่เราควรถามว่า ทำแล้วส่วนรวมจะได้อะไรบ้าง หรือว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องไหม เพราะคนเรานั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเอาเข้าตัวให้มาก ๆ แต่เรามีหน้าที่ที่จะช่วยเหลือส่วนรวม ถ้าเราทำเช่นนี้ก็จะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

17.เวลาใครได้ดีหรือได้มากกว่าเรา ไม่ควรอิจฉาเขา แต่ควรชื่นชมยินดีเขา เพราะว่าความอิจฉาจะทำให้จิตใจร้อนรุ่มเป็นทุกข์ ในทำนองเดียวกันเวลาใครเขาทำดีก็อย่าไปเขม่นหรืออิจฉาเขา ควรชื่นชมยินดีเพราะสิ่งนี้จะทำให้ความดีในใจเราเจริญงอกงามขึ้นด้วย และทำให้ใจเราเป็นบุญ

18.เดี๋ยวนี้เราไปให้ความสำคัญกับผลมากกว่าการใช้ความเพียรหรือการลงมือกระทำจึงเกิดค่านิยมทางลัด อะไรก็ได้ขอให้ไดด้ผลสำเร็จไว ๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง

19.ถ้าเรารักสุขเกลียดทุกข์ ก็ควรรู้จักให้อภัย เพราะถ้าเราไม่ให้อภัย ความโกรธความเกลียด ความพยาบาท ก็จะเผาลนจิตใจ ทำให้รุ่มร้อน แต่ถ้าเรารู้จักให้อภัย ก็จะช่วยปลดเปลื้องความโกรธความเกลียดออกจากใจเรา เป็นเสมือนน้ำเย็นหรือยาสามัญประจำใจที่เราควรมีไว้ตลอดเวลา

Sunday 1 July 2012

ร้อยธรรมคำสอน - ป.อ. ปยุตโต

1. ธรรมดาทหารต้องมีความกล้าหาญ ถ้าทหารไม่มีความกล้าหาญก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นทหาร แต่ในทำนองเดียวกันพระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต้องรักษาธรรม ถ้าพระสงฆ์ไม่รักษาธรรมก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นพระสงฆ์

2. พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า คนเขลามัวคำนวณดวงดาวอยู่ ประโยชน์ได้ล่วงเลยเขาไปเสียแล้ว ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้ มัวรอฤกษ์ยามนี่มันเสียซะเยอะ พระพุทธศาสนานี่ ท่านไม่มัวรอเรื่องเหล่านี้

3. คนจำนวนมากนี่เอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ไปเที่ยวหาเรื่องมาทุกข์ อย่างคนแก่ ๆ ก็นั่งกลุ้มใจเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มา อยู่ดี ๆ ล่ะไปคิดเรื่องอะไรต่ออะไรมาทำให้หัวสมองทุกข์ไอ้นี่เขาเรียกว่า เอาทุกข์มาทับถมตน

4. คนเรานี่เวลามีภัยคุกคาม มีทุข์บีบคั้นก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสุขสบายก็นอนต่อไป พระพุทธศาสนาก็จึงต้องย้ำด้วยความไม่ประมาท เพราะว่า เมื่อสบายแล้วคนโน้มเอียงจะประมาท ใครทั้ง ๆ ที่สุขสบายก็ไม่ประมาทได้ก็คนนั้นแหละ เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมได้ผล

5. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ มนุษย์ที่ไม่มีการฝึกเป็นสัตว์ที่แย่ที่สุดกว่าสัตว์ใด ๆ ทั้งสิ้น อันนี้เป็นหลักพระศาสนา เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธพจน์ว่า ทันโต เสฎโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ผึกแล้วประเสริฐ

6. ความเพียรของมนุษย์ เทวดาก็กีดกันไม่ได้ ว่าอย่างนั้นนะ อันนี้ก็หมายความว่า พุทธศาสนานี่ไม่ยอมแก่เรื่อง โชคชะตา ให้มีความเพียรพยายามใช้สติปัญญากำลังความสามารถแล้วจะสามารถเอาชนะแม้แต่โชคชะตาได้

7. ไม่พึงมัวหวนละห้อยความหลัง ไม่มัวเพ้อหวังอนาคต สิ่งใดล่วงแล้วก็ผ่านไป สิ่งใดยังไม่ถึงสิ่งนั้นก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้แน่นอนคือปัจจุบันนี้ ให้มองเห็นให้พิจารณาให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เมื่อมองเห็น เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วทำ

8. สังคมไทยนี่เราจะเอาแต่ผลนะ เวลาไปมองฝรั่งก็ดูว่าเขามีผลอะไรให้เราบริโภคบ้าง ก็จะรับผลนั้น ชื่นชมวนอยู่กับไอ้เรื่องผลที่จะเกิดขึ้น ไม่พยายามรู้เหตุแล้วก็ไม่ทำเหตุด้วย รู้แต่ผล เสวยผล

9. กาลเวลานี้ไม่เคยหยุด ไม่ว่าเราจะหลับ จะตื่น จะนอน จะพักอย่างไรก็ตาม กาลเวลาไม่เคยหยุด เมื่อกาลเวลาก้าวไปตลอดเวลา ถ้าเราหยุด เราก็กลายเป็นคนประมาท ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของคน นี่จะต้องก้าวอย่างน้อยก็แข่งกับกาลเวลา ให้ทันกาลเวลา

10. พุทธศาสนานี่ พูดเรื่องทุกข์เยอะเหลือเกิน ท่านสอนทุกข์ไปเพื่ออะไร คือทุกข์นี่มันต้องเจอล่ะ คนเกิดมาคนไม่เจอทุกข์มีไหม เกิดมาพุทธศาสนาไม่ได้ให้หนีทุกข์ ปัญหาเจอต้องแก้ ไม่ใช่มัวหลบหนีปัญหากันอยู่ แล้วมันจะไปได้เรื่องได้ราวอะไร

11. เพราะว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นหลักพึ่งตนเอง ที่ในหลวงพระราชทานไว้ แล้วก็หลักอะไรก็แล้วแต่ที่เราสอนกัน พระพุทธศาสนาก็พูดมาตลอดเวลาให้พึ่งตน และเราก็ย้ำกันตลอดเวลาว่าให้พึ่งตัวเอง แต่ว่าอย่าลืมว่าจะพึ่งตนนั้น ต้องมีตนที่พึ่งได้ จะมีตนที่พึ่งได้ก็ต้องฝึก ศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป

12. สังคมไทยเรานี่ ถ้าจะให้เป็นการสร้างสรรค์นะ เมื่อมีการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ นอกจากไปวิจารณ์ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วนี่มันต้องมาถึงตัวเองว่าแล้วเราจะทำอะไรกันนี่ สำคัญที่สุดเลย มันไปอยู่แค่ว่าเขา ว่าพวกนั้นไม่ดีอย่างนั้น ว่าพวกนั้นแย่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่มาถึงสักทีว่า เราจะทำอะไร นี่จุดอ่อนที่สุดเลย

13. ถามว่าเวลาเราตัดสินอะไรนี่ เราเอาอะไรเป็นเครื่องวินิจฉัย เอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์วินิจฉัย หรือเอาความเป็นพวกเป็นเครื่องวินิจฉัย ความเป็นพวกเป็นเครื่องวินิจฉัยมันไม่มีทางจบ ก็ไม่มีทางสันติสุข ต้องทะเลาะกันเรื่อยไป

14. สมานฉันท์นั้นก็เรื่องสามัคคีนั่นแหละ ก็แปลว่ามีฉันทะ มีความต้องการตรงกันพูดง่าย ๆ ก็คือความต้องการตรงกัน เรียกว่า สมานฉันทะ นี่ก็เป็นภาษาบาลี ถ้ายังต้องการไม่ตรงกัน สมานฉันท์ก็เกิดไม่ได้ แล้วเวลานี้มีความต้องการตรงกันหรือยังละ? ถ้ายังไม่ตรงกัน มันก็ไม่มีสมานฉันท์

15. คนทางใต้ พระทางใต้ท่านก็เล่าให้ฟังบอกว่า นี่ในภาคใต้เราที่เป็นมาสมัยก่อนนี่ คนไทยพุทธ ไทยมุสลิมอยู่ด้วยกัน เวลาคนมุสลิมสร้างมัสยิด คนไทยพุทธไปช่วยสร้าง เวลาชาวพุทธสร้างโบสถ์ชาวมุสลิมก็เลยมาช่วยสร้างด้วย นี่อย่างนี้เป็นสภาพที่หาได้ยาก มันไม่มีที่ไหนในโลก

16. การแสดงความเห็นนั้น มันต้องมาคู่กับการหาความรู้ อย่างการศึกษาปัจจุบันนี่บอกว่า เอ้อเด็กไทยนี่ไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น ต้องสนับสนุนให้แสดงความคิดเห็น อย่าลืมว่าการแสดงความคิดเห็นนั้น ต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้

17. สังคมของเราเวลานี้ไปหนุนเรื่องการทำเพื่อตัวเองกันมากไป ก็เลยเห็นแก่ตัวและก็เบียดเบียนแย่งชิงกัน ฉะนั้นปัญหามันก็มาก ไม่มองเพื่อนมุนษย์ว่าเป็นมนุษย์เหมือนเราจะมองแต่ในแง่เขาแง่เรา แบ่งแยกกันแย่งชิงกัน มันก็ยิ่งยุ่ง


ขออนุโมทนาบุญ ข้อมูลจากหนังสือ ร้อยธรรมคำสอน / สำนักพิมพ์ Book Smile / 7 - 11