พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Friday 29 June 2012

ร้อยธรรมคำสอน - พระปัญญานันทภิกขุ

1. กอดทุกข์ ที่เป็นทุกข์เพราะว่าเราไปเอาสิ่งที่ควรจะผ่านไปแล้วเอามาคิดดูอีก....ไม่ให้มันผ่านไป ไม่ให้มันล่วงเลยไป ดึงเอามาคิดมาฝันต่อไปแล้วก็เป็นทุกข์  เหมือนกับเราหลงกอดวัตถุที่มันเป็นพิษ

2. เรามาวัดก็เพื่อมาศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะปรับปรุงจิตใจของเราให้ดีขึ้น เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เรามีความสุข มีความสงบตามสมควรแก่ฐานะ

3. พระพุทธศาสนาไม่ทำให้คนอ่อนแอ แต่ว่าทำให้คนเข้มแข็ง ให้อดทน ให้ควบคุมตัวเองได้ ให้ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่าง  ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้

4. เรามีชีวิตอยู่ในบ้านในเมือง ควรจะทำอะไรช่วยชาติช่วยบ้านเมืองกันบ้าง ไม่ยากอะไรเลย คือทำให้ทุกคนตั้งใจกระทำความดี ตามหน้าที่ ที่เรามี เราเป็นอยู่

5. คนเรามีปาก ปากมีไว้พูดเรื่องที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร เราจะไม่พูดสิ่งเหลวไหล เราจะพูดแต่เรื่องที่ดีที่งาม พูดอย่างไรเรียกว่าพูดดี คือพูดเป็นสุภาษิต สุภาษิตก็คือพูดดี พูดดีก็คือพูดเรื่องจริงเรื่องแท้

6. เราจะกำจัดความริษยาด้วยอะไร ก็ด้วยการคิดให้ตรงกันข้าม คิดให้มีความยินดี พอใจ ในสภาพชีวิตของคนนั้น ยินดีในกิริยาท่าทางในการพูดจา ในการทำงาน ในการเป็นอยู่

7. ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ทำเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ได้ความทุกข์ทำเหตุุให้เกิดสุขก็ได้ความสุข ทำเหตุให้เกิดความเสื่อมเราก็ได้ความเสื่อม ทำเหตุให้เกิดความเจริญเราก็ได้ความเจริญ เราหนีจากผลที่เราทำไว้ไม่ได้

8. วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ไม่ดีไม่ชั่ว เช้าสายบ่ายเย็น ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ถ้าเราทำดีเวลาไหน เวลาก็พลอยดีไปกับเรา ถ้าเราทำชั่วเวลาไหน เวลามันก็พลอยชั่วไปกับเรา

9. ถ้าศีลธรรมจากเราไปเราก็ขาดหลักประกัน ไม่มีเครื่องคุ้มครอง เหมือนอยู่บ้านที่ไม่มีหลังคา ไม่มีฝา อันตรายจะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ถ้าเรามีศีลธรรมเป็นเครื่องป้องกัน เราอยู่เย็นเป็นสุข

 10. ความไม่เป็นทาสก็คือไม่ยินดีกับสิ่งนั้น ไม่ยินร้ายในสิ่งนั้น ความยินดีก็เป็นเหตุให้เป็นทาส ความยินร้ายก็เป็นเหตุให้เป็นทาส ความไม่เป็นทาสก็คือความไม่ยินดียินร้าย ความไม่ยินดียินร้าย ก็เพราะว่ามีสติมีปัญญา เป็นเครื่องกำกับจิตใจ

11. พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่อย่างผู้ชนะ หมายความว่าชนะต่อสิ่งที่มากระทบจิตใจ ไม่ให้สิ่งนั้นครอบงำย่ำยีใจ เราก็เป็นผู้ชนะ

12. อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดจากความคิด เกิดจากการพูด เกิดจากการกระทำ เกิดจากการคบหาสมาคม เกิดจากการไปการมาในที่ต่าง  ๆ ไม่ได้เกิดเพราะอะไรมาดลบันดาลให้เกิด ในพุทธศาสนาไม่มีคำว่า ดลบันดาล

13. กิเลสทุกประเภทเมื่อเกิดขึ้นในใจเราแล้ว ทำให้เราโง่ เรามืด เราบอด เราไม่มีปัญญา ไม่มีแสงสว่าง สำหรับพิจารณาอะไรให้มันถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง

14. เราทำอะไรไว้หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร ต้องคิดก่อนว่า มันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันเสื่อมหรือมันเจริญ ต้องคิดให้รอบคอบ

15. ดีชั่วไม่ได้อยู่ที่ดวงที่เวลา แต่มันอยู่ที่การกระทำเวลานั้นไม่ดีไม่ชั่ว เช้าสายบ่ายเย็น กลางค่ำกลางคืนไม่ดีไม่ชั่ว การกระทำของเราที่ทำลงไปนั่นแหละทำให้เวลาดีชั่ว

16. เราจะอยากได้อะไร อย่าได้ใช้ความข่มขู่ อย่าใช้อำนาจ อย่าใช้อิทธิพลเพื่อไปเอาอะไรจากคนนั้น เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เราควรจะพูดจาประนีประนอม ค่อยพูดค่อยทำความเข้าใจกัน

17. ไม่โต้ตอบด้วยความชั่ว ไม่เอาน้ำสกปรกมาล้างสิ่งสกปรก แต่เอาน้ำสะอาดมาล้างสิ่งสกปรก สถานที่นั้นก็จะสะอาดปราศจากสิ่งชั่วร้ายขึ้นได้

18. เราไม่ควรเกิดมาสร้างปัญหา แต่เกิดมาช่วยแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวเรา

19. เด็กมันก็เหมือนผ้าขาว เราจะย้อมสีอะไรก็ได้ แต่ถ้าไม่ย้อมทิ้งไว้เฉย ๆ ขี้ฝุ่นจับกลายเป็นผ้าดำผ้าสกปรกไป เราต้องฝึกเขา อบรมเขาให้เป็นคนดี

20. เอาตัวเราเปรียบเทียบกับคนอื่น ว่าอะไรที่เราต้องการ คนอื่นเขาเหมือนกับเราเหมือนกัน อะไรที่เราไม่ชอบไม่ต้องการ คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน จะทำอะไรก็ต้องคิดว่าจะกระทบกระเทือนใครบ้างจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใดบ้าง

ขออนุโมทนาบุญ กับผู้แต่งหนังสือ ร้อยธรรมคำสอน / สำนักพิมพ์ Book Smile / 7 - 11

Thursday 28 June 2012

ร้อยธรรม คำสอน - พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

1. เมื่อไหร่เรารู้สึกเย็นอกเย็นใจ นั่นก็คือ ตัวอย่างของพระนิพพาน เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน คำว่า เย็นอกเย็นใจ นั่นหมายถึง ไม่มีกิเลสนะ ไม่ใช่ว่าร่ำรวย สวยงาม มีสุข มีแต่กามารมณ์ ก็จะเป็นเย็นใจ คนโง่เท่านั้นที่จะเห็นว่าอย่างนั้นเป็นเรื่องเย็นใจ

2. วันวิสาขะเป็นวันแห่งการประสบชัยชนะ...พระพุทธเจ้าท่านชนะกิเลส ชนะะมาร!  การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในวันวิสาขะนั่นนะ เป็นวันแห่งการประสบชัยชนะ ก่อนหน้านี้มนุษย์ทั้งหลาย ไม่เคยชนะกิเลส ไม่เคยชนะมาร มาถึงวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านชนะกิเลส ชนะมาร หมดสิ้นเชิงเลย

3. ในโลกนี้ ถูกเขาสรรเสริญจนตัวลอย ฟุ้งเฟ้อไป ถูกเขานินทาด่าว่าก็มาขัดใจโกรธแค้นอยู่เหมือนกับคนบ้า ได้รับสรรเสริญก็บ้าไปอย่าง ได้รับนินทาก็บ้าไปอย่าง นี่เพราะมันไม่รู้ว่าเป็นเช่นนั้นเอง ว่าในโลกต้องเป็นเช่นนี้เอง

4. คนเดี๋ยวนี้มันโง่ เอาดีเป็นชั่ว เอาชั่วเป็นดี เอาสุขเป็นทุกข์ เอาทุกข์เป็นสุข กลับกันหมด มันเหมือนกับคนโง่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ที่เราไปชอบอะไรอบายมุขทั้งหลาย ที่หนาแน่นขึ้น ทั่วบ้านทั่วเมือง อบายมุขเหล่านั้นเป็นกงจักรทั้งนั้น แต่มาเห็นเป็นดอกบัว

5. ในโลกนี้มันต้องมีสิ่งที่เป็นคู่ ๆ คู่ ๆ คู่ ๆ กันอย่างนี้แหละ ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ ได้นินทาได้สรรเสริญ ได้สุขได้ทุกข์ มันมีคู่ตรงกันข้ามให้มากระทบ เราอยู่ในโลกนี้เป็นของเช่นนั้นเอง ถ้ามากระทบเข้าแล้วมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เพราะเป็นเพียงความรู้สึก

6. คำพูดที่ทำให้คนเขาสูญเสียความรักใคร่ ความสามัคคี เห็นคนแตกคอกัน แล้วก็สบายใจ เอาคนน้้นมานินทา เอาคนนี้มานินทา ในทางหลักธรรมะจึงถือว่า เป็นบาป เป็นอกุศล ที่ควรจะเว้นเสีย

7. มีเงินก็อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะเงิน มีบุตรภรรยาสามีก็อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะบุตรภรรยาสามี มีเกียรติยศชื่อเสียงก็อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะว่าเกียรติยศชื่อเสียง มีอะไรก็อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น นั่นละคือมีธรรมะเข้ามาปัองกันเอาไว้

8. คนโง่มันก็ยังมีจิตใจหวั่นไหว ไปตามที่ฝนตก - ฝนไม่ตก แดดออก - แดดไม่ออก อะไรต่าง ๆ นานา เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ตื้น ๆ ง่าย ๆ นี่มันมีจิตใจเปลี่ยนไป ขึ้นลงมากจนได้ยินดียินร้าย ยินดีก็บ้าชนิดหนึ่ง ยินร้ายก็บ้าชนิดหนึ่ง

9. ขอฝากไว้อย่างนี้แหละว่า จงแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยความเป็นไท ให้ถูกต้อง และให้เต็มให้สมบูรณ์ อย่าเป็นไทกันแต่ปาก ปากเป็นไทแต่ใจเป็นทาส เป็นทาสของกิเลส บูชาความเห็นแก่ตัว บูชากิเลสนี้ไม่ใช่ไท

10. ถ้าพระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัว ก็หมดความเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เป็นพ่อค้าทำนาบนหลังทายกทายิกาทั้งหลาย อุบาสกอุบาสิกาก็เหมือนกันนะ ถ้าอุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้เห็นแก่ตัวขึ้นมาก็ทำนาบนศาสนา ให้ศาสนามันยุ่งยากไปหมด

11. ทุกคนที่ไม่มีธรรมะต้องเป็นทุกข์ คนที่ไม่มีธรรมะจะต้องเป็นทุกข์ ไปดูเถอะ เพราะมันจะรักนั่น เกลียดนี่ โกรธโน่น กลัวนั่น ยุ่งไปหมด มันคิดจนเป็นทุกข์ มันคิดในทางที่ให้เป็นทุกข์ นี่เพราะมันไม่มีธรรมะ

12. หัวใจของพระพุทธศาสนา มันทำให้ไม่ยึดมั่นในอะไร โดยความเป็นตัวตนหรือความเป็นของตน คือจิตมันจะไม่ไปจับฉวยเอาอะไรเป็นตัวตนเป็นของตน จิตว่างที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้

13. ขอให้มันได้เพียงเท่านี้แหละ เป็นตัวเองมันมีความสุข ไม่มีความทุกข์ พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่ บุคคลนั้นทำให้บุคคลอื่นรอบตัวนั้น พลอยได้รับประโยชน์ตามกันไปด้วย ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น มันก็ถึงพร้อมแล้วก็ควรจะพอแล้ว จะบ้าเอาไปถึงไหนกันอีก

14. มีความรักในสิ่งใด สิ่งนั้นแหละ มันกัดหัวใจ พอไม่ได้อย่างรัก มันก็มีความโกรธในสิ่งที่มันเคยรัก มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนเป็นไม่ได้อย่างใจ มันก็ได้โกรธได้เกลียด ไปกำหนัดยินดีกับสิ่งใด สิ่งนั้นล่ะ มันกัดหัวใจ

15. พุทธบริษัททั้งสี่คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นั่นแหละจะทำให้ธรรมวินัยหรือศาสนานี้หมดไป ถ้าเมื่อไรมันสอนกันผิด มันเรียนกันผิด มันปฏิบัติผิด คือผิดหลักพุทธศาสนาแล้ว ศาสนามันก็หมดได้

16. ขอได้โปรดสนใจไว้เถอะว่าสันติภาพจะมีมาได้ในโลก ก็เพราะว่าศาสนาทั้งหลายร่วมมือกันกำจัดความเห็นแก่ตัวของคนในโลก และโลกนี้ก็จะมีสันติภาพ

17. เมื่อใดยึดถือ เมื่อนั้นเป็นทุกข์ เมื่อใดไม่ยึดถือ เมื่อนั้นก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อใดยึดถือ เมื่อนั้นจิตมันวุ่นวายรกรุงรัง เป็นทาสของไอ้สิ่งที่ยึดถือ เมื่อไหร่เราไม่ยึดถือ ในจิตไม่ยึดถืออะไรไว้ จิตมันเกลี้ยง มันว่าง มันไม่ยึดถืออะไร มันก็เป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัว

ขออนุโมทนาบุญ กับผู้จัดทำหนังสือ ร้อยธรรมคำสอน และ Book Smile / 7-11

Friday 22 June 2012

วิบากกรรม - ปัญหาหนี้




ปัญหาหนี้
ประกอบด้วย เป็นหนี้ ต้องมารับหนี้แทนคนอื่น และถูกเบี้ยวหนี้



สรุปกรรมที่ทำให้เกิด ปัญหาหนี้
1. โกง เบี้ยวหนี้
2. ตระหนี่ ห้ามคนทำบุญ ทำบุญแล้วเสียดายภายหลัง
3. คบคนพาล

วิธีแก้ไขวิบากกรรม
1. หักดิบเลิก ทำสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
2. ลืมอดีต ที่ผิดพลาดให้หมด
3. รักษาศีล 5 ศีล 8 ให้บริสุทธิ์
4. ให้สั่งสมบุญทุกบุญอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ทั้งการทำทานรักษาศีล และเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา เป็นต้น
5. ให้ปลื้มในบุญทั้ง 3 ระยะทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังจากทำแล้ว ให้หมั่นนึกถึงบุญที่ได้สั่งสมมาทั้งหมด
6. อธิษฐานจิต ให้บุญที่ได้สั่งสมมา ไปตัดรอนวิบากกรรมที่เคยทำไว้
7. อุทิศบุญ ไปให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ เคยเบียดเบียนไว้

ขออนุโมทนาบุญ  ข้อมูลจาก www.dmc.tv


วิบากกรรม - โรคผิวหนัง





โรคผิวหนัง
ประกอบด้วย อีสุกอีใส เป็นหิดน้ำเหลืองเต็มตัว ลมพิษ หัด ผิวดำ ผื่นแดงเต็มคันทั้งตัว มีปานที่กลางหลัง สะเก็ดเงินที่เท้า บวมแดงไปทั้งตัว ร่างกายเน่ามีกลิ่น มีตุ่มหนองขึ้นเต็มตัว ผิวหนังพุพองเหมือน ถูกไฟไหม้ถูกไฟเผาตามร่างกาย แผลแห้งตกสะเก็ด ผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน เป็นสิวทั้งตัวลมพิษฝีดาษ ชอบสักตามตัว และศีรษะมีกลิ่นเหม็นมาก



สรุปกรรมที่ทำให้เป็นโรคผิวหนัง
1. ฆ่า สั่งด่าว่า ใส่ร้าย เถียงพ่อแม่ ผู้ใหญ่ และล้อเลียน
2. ทำสถานที่ผนังให้เปรอะเปื้อน
3. ใช้หมามุ่ยโรยที่นอนกลั่นแกล้ง
4. เผาบ้านเรือนปิ้งย่างสัตว์

ขออนุโมทนาบุญ ข้อมูลจาก www.dmc.tv

Thursday 21 June 2012

วิบากกรรม - โรคภูมิแพ้





โรคภูมิแพ้
ประกอบด้วย แพ้ละอองเกสรดอกไม้ทุกปี แพ้ไข่ แพ้อาหารทะเล และแพ้ยุง แพ้แมลง


สรุปกรรมที่ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้
1.ฆ่า ทรมานโดยจับศีรษะกดน้ำ บีบคอ ตบหัว
2.ใช้แรงงานสัตว์หนัก ไม่ดูแล
3.เผาที่นาทำให้คน/สัตว์เดือดร้อน
4.พูดเหน็บแนม เถียงผู้ใหญ่

ขออนุโมทนาบุญ ข้อมูลจาก www.dmc.tv

Wednesday 20 June 2012

วิบากกรรม - โรคเกี่ยวกับระบบขับถ่าย








โรคเกี่ยวกับระบบขับถ่าย
ประกอบด้วย ท้องเสียถ่ายไม่หยุด ไม่มีรูทวารหนัก เย็บปิดทวารหนัก ทวารหนักมีฝีขึ้น ผ่าตัดริดสีดวงทวาร ถ่ายไม่ออก ถ่ายยาก ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแสบขัด นิ่วกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะแตก/อักเสบ และมีก้อนหินเล็กๆปนมากับปัสสาวะ



สรุปกรรมที่ทำให้เป็นโรคขับถ่าย

1.เหนียวหนี้ เบี้ยวหนี้
2.แกล้งสัตว์ที่อวัยวะขับถ่าย
3.ขับถ่าย/ปัสสาวะไม่เป็นที่
4.แกล้งใส่ยาถ่าย/สลอดในอาหาร

Monday 18 June 2012

วันพระ _ ความสำคัญและปฏิบัติตัวอย่างไร

วันโกนและวันพระ


วันโกน คือ วันขึ้น 7 ค่ำกับ 14 ค่ำ และวันแรม 7 ค่ำกับ 14 ค่ำ ของทุกเดือน (หรือ วันแรม 13 ค่ำ หากตรงกับเดือนขาด)ซึ่งเป็นวันก่อนวันพระ 1 วัน

วันพระ คือ วันขึ้น 8 ค่ำกับ 15 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำกับ 15 ค่ำ ของทุกเดือน(หรือวันแรม 14 ค่ำ หากตรงกับเดือนขาด)

ประวัติความเป็นมา

ใน สมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองแคว้นมคธ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่ เขาคิชกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้น

พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลว่า นักบวชในศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาของเขา แต่พระพุทธศาสนานั้นยังไม่มี พระพุทธเจ้าจึงทรงอณุญาตให้พระสงฆ์ประชุมสนทนาธรรมและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนตามคำขออนุญาตของพระเจ้าพิมพิสาร

และเมื่อพระพุทธศาสานาได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวมาเป็นวันธรรมสวนะเพื่อถือศีล ปฏิบัติธรรม ประกอบบุญกุศล และกระทำกิจของสงฆ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ข้อควรปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

1. ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า รักษาศีล ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม

2. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดเว้นอบายมุข

3. ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

4. ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ขอขอบคุณเว็บ : http://www.thaigoodview.com

Tuesday 12 June 2012

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า

สนับสนุนโดย http://www.dungtrin.com

การทำสมาธิของคนส่วนใหญ่ประสบกับความล้มเหลว
หรือก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นลบกับการทำสมาธิ
เพราะขาดแนวทางที่ถูกต้อง
หรือมองแนวทางที่ถูกต้องแบบผิดๆ
ซึ่งก็หมายความว่ายิ่งทำสมาธิเท่าไร
ใจก็ยิ่งแกว่ง หรือห่างไกลจากสมาธิที่ถูกที่ชอบมากขึ้นเท่านั้น
ความเข้าใจขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
ถ้าขาดความเข้าใจแล้วกระโดดไปพยายามทำสมาธิเลย
เกือบร้อยทั้งร้อยจะพยายามเพ่งจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแน่นเกินไป
หรือไม่ก็จ้องบังคับความคิดของตัวเองให้ดับไปดื้อๆ
การทำสมาธินั้น ทุกคนหวังจะได้ผลเป็นความสุขสงบ
พูดง่ายๆ สมาธิคือการเปลี่ยนอึดอัดเป็นสบาย
แต่หลายคนทำสมาธิแล้วเปลี่ยนสบายเป็นอึดอัด
แล้วจะไปชอบใจหรือเห็นค่าของสมาธิได้อย่างไรกัน?
เพื่อจะมองเห็นทั้งเป้าหมายของสมาธิแบบที่พระพุทธเจ้าสอน
ตลอดจนทราบขั้นตอนของความสำเร็จอย่างชัดเจน
ก็ขอให้ทำความเข้าใจผ่านข้อสงสัยในหมู่นักเจริญสติ
ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และก่อให้เกิดความละล้าละลังที่สุด ดังต่อไปนี้


๑) การทำสมาธิกับการเจริญสติต่างกันอย่างไร?

สมาธิคือภาวะของจิตที่ "ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว"
คือนิ่งอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่น
หรือเมื่อมีสิ่งอื่นมารบกวนก็ไม่แกว่งไกวตามง่ายๆ
สติคือภาวะของจิตที่ "รู้เรื่องรู้ราว"
คือไม่ใช่เอากันแค่นิ่งอยู่ในฝัก
แต่ตัดเชือกกันว่าเอาตัวรอดได้หรือเปล่าด้วย
เปรียบเทียบได้กับคนที่เผชิญกับอุบัติเหตุกะทันหัน
ต้องนิ่งด้วย แล้วก็มีความเฉียบคมฉับไวด้วย
จึงจะหลีกหลบสิ่งที่พุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว
ด้วยความเป็นอัตโนมัติทันเวลา
ทางพุทธเปรียบสิ่งกระทบหูตาและกายใจทั้งหลาย
ว่าเหมือนเป็นภัยหรือยาพิษ
เมื่อไม่รู้ว่าเป็นภัยหรือยาพิษเราก็ไม่หลีกหลบ
ผลลัพธ์คือจิตเกิดความเสียหายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
สัมมาสติคือฝึกรู้ในสิ่งที่ควรรู้
ไม่ว่าจะนับจากก้าวแรกที่เห็นลมหายใจ
ไปจนถึงก้าวสุดท้ายที่เห็นธรรมทั้งปวง
ล้วนแต่ควรรู้ว่าเหล่านั้นไม่เที่ยง
บังคับให้เป็นอย่างใจไม่ได้
ไม่อาจคงรูปให้เป็นตัวเป็นตนอย่างใดอย่างหนึ่งถาวร
เมื่อรู้ความจริงก็จะได้ไม่มีอาการยึด
เช่น เมื่อรู้แล้วว่าจิตไม่เที่ยง
บังคับจิตให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้
เราก็จะได้ไม่คาดหวัง
ยึดมั่นสำคัญผิดว่าจะให้มันทรงนิ่งอยู่ตลอด
หรือเมื่อรู้แล้วว่ากายไม่เที่ยง
เหนี่ยวรั้งให้กายคงอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้
เราก็จะหมดความทุรนทุรายเมื่อมันเหี่ยวย่นลง
หรือแม้กระทั่งร่างของบุคคลอันเป็นที่รักแตกดับ
เราก็จะไม่ร่ำร้องคร่ำครวญให้ร่างนั้นกลับฟื้นคืนชีพ
การเจริญสติมุ่งหมายเอาการฝึกรู้กายใจตามจริง
ผลลัพธ์สุดท้ายคือสมาธิที่เรียกว่า "อริยสมาธิ"
คือจิตตั้งมั่นรู้อยู่เองเป็นอัตโนมัติว่า
กายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวม
ก็ต้องบอกว่าการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า
คือ "การเจริญสติ" แบบที่เราได้ยินกันมากขึ้นในยุคนี้นั่นเอง
เมื่อทำสมาธิจนเป็นอริยสมาธิเต็มขั้น
ก็คือการเกิดปรากฏการณ์ล้างผลาญกิเลสเป็นขั้นๆ
เรียกว่ามรรคผลขั้นโสดา สกทาคา อนาคา และอรหัตต์ตามลำดับ


๒) สมถะกับวิปัสสนาต่างกันอย่างไร?

สมถะหมายถึงการอาศัยวิธีอันเป็นธรรมใดๆ
ทำให้ใจสงบจากกิเลส เพื่อให้พร้อมรู้เป็นวิปัสสนา
พูดสั้นๆคือ "ทำจิตให้สงบลงพร้อมตื่นรู้ตามจริง"
ปัจจุบันคนมักพูดถึงการทำสมถะ
ว่าคือการนั่งสมาธิและเดินจงกรม
หรือหนักกว่านั้นคือสมถะเป็นเครื่องถ่วง
ไม่ให้สนใจวิปัสสนา
ติดสมถะแล้วคือได้ไปเป็นพรหม
หมดสิทธิ์เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
สมถะเลยถูกมองเป็นผู้ร้าย
และเห็นวิปัสสนาเป็นพระเอก
ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครเป็นผู้ร้าย
ไม่มีใครเป็นพระเอก
มีแต่ขาสองข้างที่พาเราเดินไปถึงฝั่ง
ขาดข้างใดข้างหนึ่งก็เรียกว่าขาเป๋
เดินลำบาก ไปถึงปลายทางได้ยาก
หรือยิ่งถ้าขาข้างที่เหลือป้อแป้ปวกเปียก
ก็อาจออกจากจุดเริ่มต้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
คำว่า "วิปัสสนา" นั้น
รากของนิยามมาจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในวิธีเจริญสติ
ใจความคือให้
"ดูกายใจนี้ตามจริงเท่าที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ"
และที่เป็นปกติเลยก็คือทั่วทั้งกายใจนี้
กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา
นับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกไปจนกระทั่งความรู้สึกนึกคิด
ใครจะทำหรือไม่ทำวิปัสสนา
กายใจก็แสดงความจริงอยู่อย่างนั้น
ผู้ทำวิปัสสนาเพียงแต่เข้าไปดู เข้าไปรู้อย่างยอมรับเท่านั้นเอง
ฟังดูเหมือนง่าย
แต่ลงมือทำจริงจะยาก
นั่นก็เพราะจิตกระเพื่อมด้วยพลังกระตุ้นของกิเลสอยู่เรื่อยๆ
เช่น แค่ไม่อยากยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิด
จิตจะบิดเบี้ยว กิเลสจะกระตุ้นให้หาเหตุผลสารพัด
มาพูดให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูก
คนเราสั่งสมนิสัยเช่นนี้กันโดยมาก
คนส่วนใหญ่จึงมีจิตที่ยอมรับตามจริงได้ยาก
หรืออย่างตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้ตัวอยู่
ตอนฟุ้งซ่านหาทางมีความสัมพันธ์ทางเพศ
ตอนฟุ้งซ่านหาทางแก้เผ็ดคนที่ทำให้เราเจ็บใจ
จะไม่มีสิทธิ์เห็นความฟุ้งซ่าน
และความฟุ้งซ่านย่อมบดบังทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอกที่ปรากฏตรงหน้า
หรือจะเป็นโลกภายในทางกายทางใจใดๆ
การทำสมถะจึงมีบทบาทสำคัญ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังกระเพื่อมไหวอยู่มาก
หากอาศัยสมถะมาช่วย ก็จะเห็นอะไรชัดกระจ่างแตกต่างไป
สรุปว่าสมถะคือการลดระดับความกระเพื่อมไหว
หรือสมถะคือการรักษาจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อมไหวก็ได้
ประเด็นคือเมื่อจิตลดความกระเพื่อมไหวแล้ว
จึงค่อยมีความสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาชัดๆ
ไม่ใช่เห็นแบบโคลงเคลง ไม่ใช่เห็นแบบโยกไปไหวมา


๓) จะต้องเริ่มด้วยสมถะหรือวิปัสสนาก่อน?

มักมีการอ้างถึงพระอานนท์
ที่ท่านใจกว้าง เปิดรับทั้งลูกศิษย์ที่ชอบทำสมถะก่อนวิปัสสนา
หรือแบบที่อยากทำวิปัสสนาก่อนสมถะ
ตลอดจนแบบที่อยากทำทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
ความจริงก็คือถ้าเราดูที่ตัวเองอย่างเข้าใจ
ว่าเหมาะกับอะไร
ไม่ถือเอาตายตัวเป็นสากลว่าเริ่มอันไหนก่อนถึงจะดีกว่า
ปัญหาก็จะหมดไป และไม่ต้องกังขาอยู่เนืองๆ
ยกตัวอย่างถ้าเป็นคนกลัดกลุ้มรุ่มร้อนในราคะ โทสะ โมหะอยู่เรื่อยๆ
ก็อย่าเพิ่งฝืนทำวิปัสสนาให้ยาก
ต้องหาทางลดความรุ่มร้อนลงเสียบ้าง
เช่น ลดเหตุแห่งความตรึกนึกถึงเรื่องกามและเรื่องโกรธ
หันมาแผ่เมตตาหรือปลงสังเวชในความเน่าเปื่อยแห่งกายเสียบ้าง
พอร้อนเปลี่ยนเป็นเย็น พอทะยานอยากเปลี่ยนเป็นสงบระงับ
จิตถึงค่อยพร้อมจะเห็นตามจริงแบบวิปัสสนาได้
แต่หากเป็นคนยอมรับตามจริงได้ง่ายมาแต่ไหนแต่ไร
เคยมีนิสัยเห็นประโยชน์ตามที่มันเป็นประโยชน์
เห็นโทษตามที่มันเป็นโทษ สำนักผิดตามที่ทำผิด
กับทั้งรักษาวาจาสัตย์ พูดคำไหนคำนั้นไม่กลับกลอก
ไม่พูดเอาดีเข้าตัว ไม่โยนชั่วให้คนอื่น
เช่นนี้ไม่ต้องพยายามทำสมถะมากก็ยกขึ้นวิปัสสนาได้เลย
ทำวิปัสสนาไป เดี๋ยวจิตคลายความยินดีในกิเลสทั้งหลาย
กลายเป็นสมถะไปในตัวได้เอง


๔) อานาปานสติคืออะไร?

อานาปานสติเป็นทั้งการทำสมาธิและการเจริญสติ
เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในคราวเดียวกัน
แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าต้องมี "ความเข้าใจ" เป็นทุนก้อนแรกไว้ก่อน
หากปราศจากความเข้าใจแล้ว
อานาปานสติอาจเป็นสมาธิเก๊ๆ เป็นการเจริญสติเทียมๆ
หรืออาจเป็นสมถะถ่วงความเจริญ หรืออาจเป็นวิปัสสนายาพิษ
แทนที่จะเห็นอะไรตามจริง
กลับเห็นแต่อะไรที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าข้างตัวเอง
พอกพูนมานะอัตตาให้ยิ่งๆขึ้นไปได้ทุกวัน
ขอให้ทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง
หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นสมาธิ
ก็หมายความว่าเป็นสมาธิ
ที่อาศัยลมหายใจเป็นหลักตรึงจิตให้ตั้งมั่น
หากกล่าวว่าอานาปานสติเป็นการเจริญสติ
ก็ต้องหมายความว่าเป็นการเจริญสติ
ที่อาศัยการยอมรับตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง
ยอมรับตามจริงว่าเมื่อใดถึงเวลาเข้า เมื่อใดถึงเวลาออก
เมื่อถึงเวลาควรหยุด
กระทั่งเห็นชัดขึ้นมาเองว่าลมหายใจนั้น
เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องหยุด หยุดแล้วก็ต้องเข้าใหม่
เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น หาความเที่ยงไม่ได้
มีแต่ภาวะพัดไหวของธาตุลม
ไม่ได้ต่างจากสายลมที่พัดกิ่งไม้ใบหญ้าแม้แต่นิดเดียว
เห็นจนพอ ในที่สุดจิตก็ยอมรับตามจริงว่าลมไม่เที่ยง
ไม่มีลมไหนเลยในชีวิตที่เป็นตัวเรา
ไม่มีลมไหนเลยที่เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา
แม้สุขที่เกิดจากอานาปานสติ
ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหนก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา
ไม่ต่างจากลมหายใจแต่อย่างใดเลย
เมื่อเข้าใจอยู่ด้วยมุมมองข้างต้น
คำว่าสมถะและวิปัสสนาก็กลายเป็นเครื่องเสริมกัน
ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องมาตีกันในอานาปานสติ
ลมหายใจและความสุขสดชื่นจะเป็นเครื่องล่อใหม่
ให้จิตของเราผละออกมาจากเหยื่อล่อแบบโลกๆ
นั่นถือเป็นสมถะ ยกจิตให้พร้อมรู้
และความไม่เที่ยงของลมหายใจที่ปรากฏให้รู้
ก็จะก่อให้เกิดปัญญาเห็นตามจริง
กระทั่ง "ทิ้ง" อุปาทาน เกิดปรากฏการณ์มรรคผลขึ้นในที่สุด


๕) ทำอานาปานสติควรลืมตาหรือหลับตา?

คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าเรามีเวลาเท่าไร ทำที่ไหน
มีเวลามากสักชั่วโมงหลับตาก็ดีจะได้ไม่วอกแวก
มีเวลาน้อยตอนคอยใครจะลืมตาก็ดีจะได้ไม่หลงเพลิน
ในอานาปานสติสูตร
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเจาะจงให้ลืมตาหรือหลับตา
แต่ขอให้พิจารณาตามจุดยืนจริงๆของแต่ละคน แต่ละขณะ
ถ้าลืมตาจะวอกแวกตามเหยื่อล่อสายตาไหม?
ถ้าหลับตาจะเคร่งเครียดเห็นนิมิตล่อใจวุ่นวายไหม?
ถ้ากำลังลืมตาหรือหลับตาแล้วเกิดข้อเสียใดๆ
ก็สลับกันเสีย เพื่อขับไล่ข้อเสียนั้นๆไป เท่านี้ก็จบ
หากลืมตาแล้วรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง ก็ควรลืมตาให้มาก
หากหลับตาถึงจะรู้ลมหายใจได้นานๆ ก็ควรหลับตาให้ต่อเนื่อง
อย่าไปกลัว หรือไปยึดรูปแบบว่าจะเอาอย่างไหนถึงจะถูก
เพราะมันถูกตรงจิต ตรงสติ ตรงความสามารถรู้ความไม่เที่ยง
ไม่ใช่ถูกตรงหลับตาหรือลืมตา
สำหรับคนส่วนใหญ่จะพบว่าการหลับตา
คือการปิดกั้นเครื่องรบกวนสายตา อันนี้ก็ถูก
แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกรบกวนด้วยเครื่องล่อตาง่ายๆ
และสมัครใจลืมตาทำอานาปานสติ อันนี้ก็อย่าว่ากัน


๖) ทำอานาปานสติควรนั่งขัดสมาธิหรือนั่งเก้าอี้?

ถ้านั่งขัดแข้งขัดขานานๆ
กล้ามเนื้อจะหดเกร็ง
และยิ่งถ้าได้ความพยายามเพ่งลมหายใจมาเสริม
สักพักเดียวก็อาจพบว่าเหน็บกินเหมือนร่ำๆจะพิการได้
แรกเริ่มจึงควรนั่งเก้าอี้ก่อน
อย่าไปติดยึดว่านั่งขัดสมาธิได้ถึงจะเก่งหรือถึงจะถูก
เมื่อนั่งเก้าอี้เจริญอานาปานสติจนบังเกิดความชุ่มชื่นแล้ว
คุณจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลายสบายมาก
เพราะร่างกายหลั่งสารดีๆออกมา
และจิตก็ไม่ก่ออาการบีบคั้นร่างกายดังเคย
ถึงตรงนั้นถ้าเลื่อนขั้นมานั่งขัดสมาธิ
ก็จะได้ความสมดุลครบวงจร
ตามที่พระพุทธเจ้าแนะว่าอานาปานสติที่สมบูรณ์

๗) เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติมีประโยชน์อย่างไร?

ปกตินักทำสมาธิหรือนักเจริญอานาปานสติมือใหม่
จะจับทิศจับทางไม่ถูก ได้หน้าลืมหลัง ไม่รู้จะเริ่มหนึ่ง สอง สามอย่างไร
ถ้ามีเสียงบอกคอยช่วย ก็จะมีประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องหลงทาง
เหมือนคนเพิ่งฟื้นจากสลบกลางหมอกจัด
ถ้ามีใครมาจูงมือและคอยบอกว่าต้องก้าวขึ้นบันไดอย่างไร
เตือนให้ช้าหรือเร่งให้เร็วตามความเหมาะสมที่จังหวะไหน
โอกาสจะเข้าเขตปลอดโปร่ง ไม่ต้องหลงวกวนค่อยสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อจับหลักได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว
ก็ไม่ควรอาศัยเสียงเป็นเครื่องช่วยกำกับ
เพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิจิต
ถ้าคอยพะวงฟังเสียงหรือแปลความหมายของเสียงอยู่
จิตก็จะไม่วิเวกเต็มรอบ เข้าถึงฌานได้ยาก
ไฟล์เสียงช่วยกำกับการฝึกอานาปานสติจากดังตฤณ
แบ่งออกเป็นหลายช่วง
จุดประสงค์เป็นไปเพื่อให้ฟังแล้วเข้าใจตลอดสาย
ว่าจะดำเนินจิตแบบนับหนึ่ง สอง สาม กันท่าไหน
ขณะหนึ่งๆอยู่ตรงขั้นใดของอานาปานสติ
และกระทั่งจะนำไปเทียบเคียงกับโพชฌงค์ได้อย่างไร
 

Saturday 9 June 2012

มังสวิรัติ (Vegetarian)

อาหารมังสวิรัติอาหารมังสวิรัติ คืออาหารจำพวกผักและผลไม้ ซึ่งทำให้ได้รับกากใยอาหาร ซึ่งช่วยในการขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกายได้ดี นิยมในคนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เนื่องจากมักจะมีปัญหาเรื่องอาการท้องผูก และมี ปัญหาเรื่องไขมันในเส้นเลือดสูงแล้ว อาหารมังสวิรัตินั้นจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย เนื่องจากในเนื้อสัตว์มักจะมีไขมัน และน้ำมันจากสัตว์ปะปนอยู่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น และอาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ
คำว่า "มังสวิรัติ" นั้นเป็นคำสมาส มาจากคำว่า มังสะ แปลว่า เนื้อ รวมกับ วิรัติ แปลว่า ปราศจากความยินดีหรือละเว้น ดังนั้น มังสวิรัติ จึงแปลว่า ปราศจากความยินดีที่จะกินเนื้อสัตว์
อาหารที่พวกมังสวิรัตินิยมรับประทานกัน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าว หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ หรือเมล็ด เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

อาหารมังสวิรัตินั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
  1. มังสวิรัติประเภทเคร่งครัด เป็นมังสวิรัติที่กินอาหารจำพวกพืชผักผลไม้เพียงอย่างเดียว ไม่มีอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือ ผลิตภัณฑ์จากไข่และนม เป็นส่วนประกอบของอาหารนั้นๆเลย
  2. มังสวิรัติประเภทที่มีการดื่มนม เป็นมังสวิรัติที่จะมีนมและผลิตภัณฑ์ของนมนอกเหนือจากพืชผักผลไม้ แต่ไม่มีเนื้อสัตว์และไข่เป็นส่วนประกอบของอาหาร
  3. มังสวิรัติประเภทดื่มนมและกินไข่ อาหารมังสวิรัติประเภทนี้มีไข่ นม และผลิตภัณฑ์ของนมนอกเหนือจากอาหารจากพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย
จะเห็นได้ว่า มังสวิรัติทั้ง 3 ประเภทนี้ จะไม่มีอาหารหรือส่วนประกอบที่มาจากเนื้อสัตว์เลย แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารประเภทโปรตีน แต่คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนจากอาหารจำพวกถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วลิสง เป็นต้น
ส่วนใหญ่ พบว่า ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เบาหวาน และอ้วน

ผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบผู้ที่เป็นมังสวิรัติเคร่งครัดมีภาวะพร่องของ วิตามินบี 12 และแร่ธาตุเหล็ก โดยเฉพาะที่เป็นมังสวิรัติเคร่งครัดเป็นเวลานาน ๆ และการมีผลต่อการเจริญเติบโต
ของเด็ก[1]


ประวัติ
ประวัติการบริโภคอาหารมังสวิรัติที่มีการบันทึกไว้ โดยเป็นการปฏิบัติและเป็นแนวความคิดความเชื่อเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ และสมัยอารยธรรมกรีกโบราณทางตอนใต้ของอิตาลี และที่กรีซเมื่อศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตศักราช การบริโภคทั้งสองแบบมีความเกี่ยวข้องกับแนวความคิดในการไม่ใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ (อหิงสา) และได้รับการสนับสนุนจากทางศาสนาและกลุ่มนักปรัชญาหรือนักปราชญ์