พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Saturday 15 December 2012

ท้าวอัมรินทร์

ประวัติ ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์)
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์
พระอินทร์เป็นตำแหน่งของพระราชาแห่งเทพทั้งปวง ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา
เรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์ เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพระอินทร์สมัยพุทธกาลเท่านั้น
 
อดีตชาติของพระอินทร์
ณ หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์
 
คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข
ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตน ฉะนั้นกรรมนี้ ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่
มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการและได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคนทั้งหลาย
ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยมมาสมัคร เป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้างสองโยชน์บ้าง
 
เมื่อประพฤติธรรม ย่อมไม่หวั่นภัยใด ๆ
ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกว่าสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด
ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน ช้างและตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา
พระราชาเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส
 
บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง
ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย
มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
วัตตบท ๗ ประการได้แก่
๑. เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต
 
ทรงมีหลายชื่อ
ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต
ท้าวมฆวาน - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
ท้าวปุรินททะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง
ท้าวสักกะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
ท้าววาสะ หรือวาสพ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก
ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา - ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
ท้าวสุชัมบดี - ทรงมีชายาชื่อสุชา
ท้าวเทวานมินทะ หรือพระอินทร์ - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์
 
ความเพียร
ในคราวที่สุวีวรเทวบุตรขอพรกับพระอินทร์ ว่าขอให้ตนได้เป็น "ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา"
พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า
"คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย"
ถึงกระนั้น สุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า "ขอพระองค์ได้โปรด ประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย"
พระอินทร์ตรัสว่า "ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้อง ทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย"
ขันติธรรม
ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับได้และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย
พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า "ทรงอดกลั้น ได้เพราะกลัว หรือว่า เพราะอ่อนแอ"
พระอินทร์ตรัสว่า "เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร"
พระมาตลีแย้งว่า "พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง"
พระอินทร์ "เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละ เป็นวิธีกำหราบพาล
พระมาตลีก็ยังแย้งว่า "ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่"
พระอินทร์ "พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลัง อดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอ ต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครอง ย่อมไม่โกรธตอบ
ผู้โกรธตอบผู้โกรธ หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย"
 
ความไม่โกรธ
ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ฆ่าความโกรธ"
ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่า น่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ
พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือ ท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้
คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา
จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และเทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยหวังผลคือ ความสุขของส่วนรวม
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ นับวันจะเลือนหายไปในสังคมไทยของเรา เพราะคิดแต่จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมฝรั่ง โดยหารู้ไม่ว่า ได้เพาะเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นแก่ตัว ความไร้คุณธรรม ลงไปในความอยากมีอยากเป็นตามกระแสของสังคมศิวิไลซ์ที่เน้นวัตถุนิยม
ฉะนั้น หากเราช่วยกันนำคุณธรรมที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยทำมาแล้ว ให้กลับคืนมา สังคมอันดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
-------------------------
อารามโรปา วนโรปา
เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ
เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ
สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ.
ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน
 
ข้อมูลจาก http://www.sil5.net

Sunday 9 December 2012

หลวงปู่ขาว อนาลโย

Imageพระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งสำนักวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ชื่อว่าเป็นเพชรน้ำเอก และเป็นศิษย์ต้นแห่งวงพระกรรมฐานสายพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

ท่านเป็นพระธุดงค์กรรมฐานที่มีจิตใจแข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น มีเมตตาธรรมเป็นเลิศ มีปัญญาธรรมที่เฉียบคม และเป็นพระอริยะเจ้าที่ทรงคุณธรรมอันบริสุทธิ์ดุจดังเพชรเม็ดงามประดับไว้ในพระพุทธศาสนา ที่หาจุดตำหนิหรือรอยมัวหมองไม่มี นับตั้งแต่ท่านสละเพศฆารวาส ออกบวช ตราบจนวาระสุดท้ายในชีวิต ท่านละสังขารทิ้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เมื่อท่านอายุได้ ๙๖ ปี

หลวงปู่มั่น เคยเปิดเผยกับศิษย์ใกล้ชิดว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นศิษย์หนึ่งในจำนวนสององค์ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นกิเลส เข้าสู่สอุปาทิเสสนิพพาน ที่บ้านโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ในช่วงหลวงปู่มั่นยังดำรงขันธ์อยู่ แล้วเดินทางกลับไปโปรดลูกศิษย์ในภาคอีสาน ใช้ชีวิตพระธุดงค์อยู่ตามป่าเขา แสวงความวิเวกโปรดญาติโยมในภาคอีสานตอนบน แถบจังหวัดสกลนคร หนองคาย อุดรธานี และฝั่งประทศลาวอยู่หลายปี

หลวงปู่ขาว ธุดงค์ตามสันเขาภูพานมาถึงถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ในสมัยนั้น) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้ก่อตั้งวัดถ้ำกลองเพลขึ้น พัฒนามาจนเป็นวัดกรรมฐานที่สำคัญ และท่านก็ได้พำนักประจำที่วัดแห่งนี้จนสิ้นอายุขัย


Image

 >> พญานาคที่ภูถ้ำค้อ  
หลวงปู่ขาว อนาลโย เล่าถึงเหตุการณ์ที่ภูถ้ำค้อ ที่เกี่ยวกับลูกหลานพญานาค ดังต่อไปนี้

คืนหนึ่ง ในระหว่างที่หลวงปู่นั่งสมาธิภาวนา ได้เห็นในนิมิตว่าบรรดางูใหญ่งูเล็กหลายพันตัว พากันเลื้อยออกมาจากถ้ำเป็นขบวนยาวเหยียด

หลวงปู่ได้ถามในนิมิตว่า “จะไปไหนกันมากมายเช่นนี้ ?”

หัวหน้างูใหญ่ตอบว่า “พวกข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นภูมินาค”

หลวงปู่ถามซ้ำอีกว่า “จะพากันไปไหน ทำไมไม่อยู่ที่เดิมนี้ ?”

งูตอบว่า “จะไปที่ห้วยอีตุ้ม เพราะตั้งแต่พระคุณเจ้ามาอยู่ในถ้ำนี้แล้ว พวกข้าพเจ้าอยู่ยากกินยาก”

หลวงปู่จึงถามว่า “เพราะอะไร ?”

งูตอบว่า “เพราะพวกข้าพเจ้าอยู่สูงกว่าพระคุณเจ้าผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ทำให้ร้อนไปทั่วร่างกาย จึงขอลงไปอยู่ในที่ต่ำๆ จะได้ไม่เป็นบาป”

ในบรรดางูเหล่านั้นมีนาคหนุ่มตัวหนึ่งถูกมัดปาก โดยให้คาบก้อนหินอยู่ หลวงปู่เห็นว่าแปลกกว่านาคตัวอื่นๆ จึงถามหัวหน้าพวกเขาว่า “ทำไมจึงต้องมัดปากเขาไว้ด้วย ?”

หัวหน้าตอบว่า “มันดื้อมาก เกรงมันจะทำอันตรายพระคุณเจ้า”

หลังจากออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ได้ยกเรื่องของนาคมาพิจารณาโดยละเอียด ท่านบอกว่าเรื่องของนาคนี้ไม่มีบรรยายไว้ในตำราเล่มใด ถ้าหากไม่ปฏิบัติสมาธิให้ถึงขั้นแล้ว จะไม่เห็นได้เลย เป็นสนฺทิฏฐิโก คือรู้เห็นเฉพาะตนเท่านั้น



>> บทเพลงลูกสาวพญานาค
การจำพรรษาของหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ภูถ้ำค้อนั้น ท่านว่าได้ข้อธรรมอย่างมากเลยทีเดียว การพิจารณาค้นคว้าธรรมไม่ติดข้อง มีความรู้แปลกๆ หลายอย่าง รู้ทั้งเรื่องของโลกและรู้ทั้งเรื่องของโลกทิพย์

หลวงปู่เล่าว่า คืนหนึ่งท่านเข้าที่บำเพ็ญภาวนา จิตสงบ ปรากฎว่าตัวของท่านได้ลงไปถึงชั้นบาดาล

หลวงปู่ถามว่า “เมืองอะไร ?”

มีเสียงพูดขึ้นว่า “นี่คือบาดาลพิภพ เมืองนาค”

หลวงปู่บอกว่า ขณะนั้นเห็นตัวท่านเองยืนอยู่บนก้อนหินอยู่กลางน้ำ น้ำในเมืองบาดาลไม่เหมือนกับน้ำในเมืองมนุษย์ กล่าวคือน้ำในเมืองบาดาลน้ำจะไหลผ่านกัน เช่นสายหนึ่งไหลไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งจะไหลไปทางทิศใต้สลับกัน สายหนึ่งไหลไปทางตะวันออก อีกสายก็ไหลไปทางตะวันตก บางแห่งจะไหลเวียนขวากับเวียนซ้าย น่าแปลกประหลาดมาก

หลวงปู่เห็นก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง มีลักษณะสวยงามมาก มีสาวงามซึ่งเป็นลูกของพญานาคยืนนิ่งอยู่ เธอสวยงามมาก หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูราวกับนางฟ้าเทพธิดา แต่งตัวด้วยเครื่องทรงที่งดงามเหมือนในภาพที่วาดกัน

สาวน้อยหันหน้ามาทางหลวงปู่ เธอประนมมือและแสดงความคารวะ แล้วทำการร่ายรำพร้อมกับขับร้องเป็นเพลงว่า “อะหัง นะเม นะเม นะวะชาตินะวะ” หลวงปู่จำเนื้อเพลงได้ดี

ลูกศิษย์เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า เพลงของลูกสาวพญานาคมีความหมายว่าอย่างไร ท่านบอกว่าให้แปลเอาเอง

หลวงปู่เคยเล่าเรื่องนี้ถวายสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) สมเด็จฯ ท่านก็ไม่แปลให้ฟัง พระองค์ท่านอยากฟังหลวงปู่แปลมากกว่า จึงนิมนต์ให้หลวงปู่แปลให้ฟัง

หลวงปู่บอกว่า “ผมไม่ได้มหาเปรียญ ไม่ได้เรียนศึกษาจะแปลได้อย่างไร”

สมเด็จฯ ท่านว่า “หลวงปู่เรียนทางในไตรปิฎก ผมเรียนทางนอกทางตำรา”

หลวงปู่จึงยอมแปลให้ฟัง ท่านพูดว่า “พูดตามที่เป็นมา ไม่ใช่ตำราอะไรนะ อะหัง ก็แปลว่าเรา ชาติใหม่ของเราไม่มีอีกแล้ว มีชาติเดียวเท่านี้”

แล้วหลวงปู่ก็ยิ้มระรื่นตามนิสัยอารมณ์ดีของท่าน แล้วถามสมเด็จว่า “ผมแปลแบบบาลีโคก แบบนี้ถูกหรือไม่”

สมเด็จฯ ท่านตอบว่า “หลวงปู่แปลได้ถูกต้องแล้ว”


>>  เจ้าตัวยาวแห่งถ้ำผาผึ้ง
จากข้อเขียนของพระอาจารย์บวร พุทฺธญาโณ เขียนถึงธรรมชาติอันวิเศษมหัศจรรย์ของวัดถ้ำกลองเพล ดังนี้

วัดถ้ำกลองเพลนี้ มีจุดเด่นเป็นสง่าที่น่าสัมผัสทัศนาอยู่ ๓ แห่ง คือบริเวณถ้ำกลองเพล บริเวณถ้ำผาผึ้ง ลึกเข้ามาอีกหน่อย และบริเวณผาผึ้งอยู่สูงขึ้นไปบนสันเขาภูพาน
ทั้ง ๓ แห่งมีหินตั้งตระการตั้งตระหง่านเรียงรายเป็นทิวแถว มีทั้งก้อนสูงใหญ่ กลาง เล็ก สลับกันไปอย่างมากมาย มองดูแล้วเป็นธรรมชาติสบายตายิ่งนัก

ถ้ำผาผึ้ง อยู่ทางด้านทิศเหนือของผาผึ้งขึ้นไปประมาณสามร้อยเมตร โขดหินของผาผึ้งทางใต้เป็นลักษณะโพรง เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาค้างคาวน้อยใหญ่จำนวนมากมายนับแสนนับล้าน มันมาพักผ่อนนอนหลับ ณ ที่แห่งเดียวนี้เป็นประจำ

ส่วนสัตว์ที่เป็นเจ้าของถ้ำ อาศัยอยู่เป็นประจำเช่นกันก็ได้แก่ เจ้าตัวยาว ซึ่งเป็นงูเหลือมขนาดใหญ่มากนั่นเอง

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า มีวันหนึ่งพระอาจารย์จันทา ถาวโร ไปนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในบริเวณใต้ปากถ้ำนั้น เจ้าตัวยาวคงจะเสร็จจากหาอาหารแล้วกลับมาอยู่ที่ของมัน เลื้อยบ้างหยุดบ้างสลับกันไปเป็นระยะๆ ดูท่าจะอิ่มเต็มที

เมื่อเจ้าตัวยาวมาใกล้จะถึงปากถ้ำที่อาศัยของมัน มันเลื้อยทับกิ่งไม้ดังกร๊อบๆ สียงดังผิดปกติ เหมือนคนรากอะไรหนักๆ ผ่านไปตามกิ่งไม้ใบไม้แห้ง

พระอาจารย์จันทาออกจากสมาธิ คอยจับตาดู ก็เห็นงูเหลือมขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื้อยเข้ามาใกล้ พอใกล้จะถึงปากถ้ำ พระอาจารย์จันทา จึงพูดว่า “พอๆ หยุดให้ดูเสียก่อน อย่ารีบด่วนไป

เจ้าตัวยาวก็หยุดนิ่งให้พระท่านดู เมื่อเห็นได้ถนัดชัดเจนแล้ว พระอาจารย์จันทาเกิดความคิดอยากให้พระอีกรูปหนึ่งซึ่งภาวนาอีกที่หนึ่งใกล้ๆ กันนั้นได้ดูด้วย จึงพูดว่า “ถ้าได้เชือกมาผูกล่ามไว้คงจะได้ดูนานๆ”

เมื่อเจ้าตัวยาวได้ยินพระพูดเช่นนั้น มันก็แสดงอาการไม่พอใจ คือชูหัวขึ้นสูง และใช้หางตีพื้นดินแรงๆ หลายที แล้วก็รีบเลื้อยหายไปในโพรงที่อยู่ของมัน โดยไม่ออกมาให้พระอาจารย์จันทาได้เห็นอีกเลย

แสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้สามารถสัมผัสรู้ภาษาคนได้ มันจึงแสดงอาการไม่พอใจออกมา หรืออาจจะนึกติเตียนพระก็ได้ ดังนั้นพระอาจารย์จันทา และพระเณรในวัดจึงได้เพิ่มความระมัดระวังในการคิด การพูด และการกระทำมากยิ่งขึ้น



>> เทศน์อบรมเสือ
หลวงปู่ขาว อนาลโย เล่าเรื่องเกี่ยวกับเสือ ในช่วงที่ท่านพักจำพรรษาที่ดงหม้อทอง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ดังนี้

คืนหนึ่ง หลวงปู่กำลังให้อบรมกรรมฐานแก่พระที่จำพรรษาอยู่ด้วยสามสี่องค์ ก็ได้ยินเสียงนักเลงโตสามตัว ลายพาดกลอน ดังกระหึ่มๆ ขึ้นข้างๆ บริเวณที่พัก มันอยู่คนละด้านกัน ต่อจากนั้นพวกมันก็มาพบกัน ได้ยินเสียงคำรามขู่กันบ้าง เสียงกัดในลักษณะหยอกล้อกันบ้าง สักพักก็เงียบไป นึกว่าพวกมันไปกันแล้ว

ต่อมาได้ยินเสียงขู่เข็ญกัดกัน เล่นกันข้างๆ ที่พักนั่นเอง ดูมันจะใกล้กับที่พระนั่งภาวนาอยู่เรื่อยๆ ประมาณสามทุ่ม เจ้าป่าทั้งสามก็พากันมาหยอกล้ออยู่ใต้ถุนศาลา ที่พระกำลังนั่งสมาธิภาวนา ฟังธรรมจากหลวงปู่ อยู่ศาลาหลังเล็กๆ นั้น มีพื้นสูงเพียงเมตรกว่าเท่านั้นเอง โครงสร้างไม่ได้แข็งแรงอะไรเลย ปลูกพอได้อาศัยเท่านั้น เสือสามตัวส่งเสียงคำรามหยอกล้อกัดกันเล่นกันอยู่ใต้ถุนศาลาเล็กๆ นั้น ส่งเสียงรบกวนพระ โดยไม่สนใจอะไร ดูท่ามันจะสนุกกันใหญ่

หลวงปู่เห็นว่าไม่ควรปล่อยไว้เช่นนั้น จึงพูดเสียงดังลงไปว่า “เฮ้ย สามสหาย อย่าพากันส่งเสียงอื้ออึงนักซิ พระกำลังเทศน์และฟังธรรมกัน เดี๋ยวจะเป็นบาปตกนรกฉิบหายกันหมดนะ เดี๋ยวจะว่าไม่บอก ที่นี่ไม่ใช่ที่เอ็ดตะโรโฮเฮกัน จงพากันไปเที่ยวร้องครางที่อื่น ที่นี่เป็นวัดของพระ ที่ท่านชอบความสงบไม่เหมือนพวกแก รีบไปเสีย พากันไปร้องไปเล่นที่อื่นตามสบาย ไม่มีใครไปยุ่งกับพวกแกหรอก ที่นี่เป็นที่พระบำเพ็ญธรรม จึงห้ามไม่ให้พวกแกส่งเสียงอื้ออึง”

พอได้ยินเสียงหลวงปู่ร้องบอกไป พวกมันพาสงบเงียบอยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นอีกสักพัก ก็ได้ยินเสียงพวกมันเกี้ยวพาราสีกันซุบซิบเบาๆ อยู่ใต้ถุนศาลา คล้ายกับจะเตือนกันว่า “พวกเราอย่าส่งเสียงดังกันนักซิ พระท่านรำคาญ และร้องบอกลงมานั่นไงล่ะ ทำสียงเบาๆ หน่อยเถอะเพื่อน เดี๋ยวเป็นบาปขี้กลากขึ้นหัวนะ”

เสียงเสือหยุดไปพักหนึ่ง ต่อไปก็มีเสียงหยอกล้อกันอีกไม่ยอมไปไหน แต่เสียงค่อยกว่าตอนแรกๆ พวกมันหยอกล้อกันเล่นสนุก ตั้งแต่สามทุ่มจนถึงสองยาม บรรดาพระก็ตั้งใจทำสมาธิภาวนา แม้ใจไม่สงบนักก็ไม่กล้ากระดุกกระดิก กลัวเสือมันจะกัดเอา พอถึงหกทุ่ม การอบรมธรรมก็จบลง พวกเสือแยกกันเข้าป่าไป พระก็แยกกันกลับกุฏิ



>> ช้างใหญ่เข้ามาหากลางดึก 
หลวงปู่ขาวได้เล่าเหตุการณ์ระทึกใจเมื่อตอนอยู่เชียงใหม่ ดังนี้

คืนหนึ่งในระหว่างพรรษาเวลาดึกสงัด หลวงปู่นั่งภาวนาอยู่ในกุฏิหลังเล็กๆ ที่ชาวบ้านสร้างถวาย ปรากฏมีช้างใหญ่เชือกหนึ่ง เป็นช้างบ้านที่เจ้าของเขาปล่อยให้หากินตามลำพังในป่าแถบนั้น ซึ่งไม่ทราบว่ามันมาจากไหน เดินเข้ามาในบริเวณที่หลวงปู่พัก แล้วตรงเข้ามายังกุฏิของท่าน ด้านหลังกุฏิมีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งขวางอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้าถึงตัวหลวงปู่ได้ มันใช้งวงล้วงเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้งบนศีรษะของท่านที่กำลังนั่งภาวนาอยู่

เสียงสูดลมหายใจของมันดังฟูดฟาดๆ จนกลดมุ้งไหวไกวไปมา และพ่นลมเย็นไปถึงศีรษะของท่าน หลวงปู่นั่งนิ่งหลับตาบริกรรม พุทโธ-พุทโธ อยู่อย่างฝากจิตฝากใจ ฝากเป็นฝากตายกับพุทโธจริงๆ ไม่มีที่อิงอาศัยอื่น

ช้างใหญ่ยังยืนคุมเชิงอยู่อย่างนั้น โดยไม่หนีไปไหน นานๆ จะได้ยินเสียงลมหายใจ และสูดกลิ่นท่านอยู่นอกมุ้งกลดครั้งหนึ่ง แล้วก็เงียบไป มันทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาถึงสองชั่วโมงเศษ จากนั้นก็เดินเลี่ยงไปด้านตะวันตกของกุฏิ เอางวงล้วงเข้าไปในตะกร้ามะขามเปรี้ยวที่แขวนกับต้นไม้ ที่โยมเขาเอามาไว้ขัดฝาบาตร

เสียงมันเคี้ยวมะขามดังกร้วมๆ ด้วยความเอร็ดอร่อย หลวงปู่คะเนเอาว่า เมื่อเจ้าท้องใหญ่พุงโลกินมะขามในตะกร้าหมดแล้ว มันคงเดินมาที่กุฏิอีก คราวนี้อาจเข้าถึงตัวท่าน และอาจเข้าบดขยี้ท่านก็เป็นได้

หลวงปู่คิดว่าท่านน่าจะออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง มันคงรู้ภาษาคนดี เพราะมันอยู่กับคนมานาน มันคงจะยอมฟังคำพูดของท่าน “หากมันฝืนทะลึ่งพรวดพราดเข้ามาจะฆ่าเรา ก็ยอมตายเสียเท่านั้น”

หลวงปู่คิด “แม้เราจะไม่ออกไปพูดกับมัน เมื่อมันกินมะขามหมดแล้ว มันก็ต้องเข้ามาหาเราจนได้ ถ้ามันจะฆ่าเราก็ต้องตาย หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นเวลาที่ค่ำคืน ตาก็มองไม่เห็นทางอะไรด้วย”

ออกไปพูดกับช้างให้รู้เรื่อง

เมื่อหลวงปู่ตกลงใจอย่างนั้นแล้ว ก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้ด้านหน้า แล้วพูดกับช้างว่า“พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้อง น้องขอพูดด้วยเวลานี้”

พอช้างได้ยินเสียงหลวงปู่พูดด้วย มันยืนนิ่งไม่ไหวติง จากนี้ท่านก็เริ่มกล่าวคำหวานต่อไปว่า

“พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์ในบ้านนำมาเลี้ยงไว้เป็นเวลานาน จนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่าง ตลอดทั้งภาษามนุษย์ที่เขาพูดกัน และพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่าง ยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก

ดังนั้น พี่ชายควรจะรู้ธรรมเนียมและข้อปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการทำบางอย่าง แม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้ว เขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศีรษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาอาจฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้ อย่าลืมคำที่น้องสอนด้วยความเมตตาอย่างนี้”


ให้ช้างรับศีล ๕

หลวงปู่ได้แผ่เมตตาให้กับช้าง พร้อมทั้งพูดว่า

“ต่อไปนี้พี่ชายจงรับศีล ๕ น้องเป็นพระจะให้ศีล ๕ แก่พี่ชาย จงรักษาให้ดี เวลาตายไปจะได้ไปสู่ความสุข อย่างต่ำก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มีบุญมีคุณธรรมในใจ ยิ่งกว่านั้นก็ไปเกิดบนสวรรค์ หรือพรหมโลกสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

ดีกว่ามาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นเป็นช้างเป็นม้าให้เขาขับเฆี่ยนตี และขนไม้ขนฟืน ซึ่งเป็นความลำบากทรมาน จนตลอดวันตายก็ไม่ได้ปล่อยวางภาระหนัก ดังที่เป็นอยู่เวลานี้ พี่ชายจงตั้งใจฟัง และตั้งใจรับศีล ๕ ด้วยเจตนาจริงๆ น้องจะบอกให้ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ปาณาฯ อย่าฆ่าคนฆ่าสัตว์ให้เขาตายด้วยกำลังของตน และอย่าเบียดเบียนคนและสัตว์ด้วยกันมันเป็นบาป

ข้อสอง อทินนาฯ อย่าลักขโมยของที่มีเจ้าของหวงแหน เช่นมะขามที่พี่ชายเคี้ยวอยู่เมื่อกี้นี้ คนเขาเอามาให้น้องไว้ขัดฝาบาตร แต่น้องไม่ให้พี่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรหรอก เพียงบอกให้ทราบว่าเป็นของมีเจ้าของ ถ้าเขาไม่ให้อย่ากิน อย่าเหยียบย่ำทำลายมันเป็นบาป

ข้อสาม กาเมฯ อย่าเสพสัตว์ที่เขามีเจ้าของหวงแหน มันเป็นบาป ถ้าเสพก็เสพเฉพาะสัตว์ตัวไม่มีคู่ ไม่มีเจ้าของ จึงไม่เป็นบาป

ข้อสี่ มุสาฯ อย่าโกหกหลอกลวง กริยาแสดงออกต้องตรงต่อความจริง อย่าแสดงเป็นกริยาหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ มันเป็นบาป

ข้อห้า สุราฯ อย่ากินของมึนเมามีสุราเมรัยเป็นต้น กินแล้วเป็นบาป ตายไปตกนรกทุกข์ทรมานเป็นเวลานานตั้งกัปตั้งกัลป์ กว่าจะหมดกรรมขึ้นจากนรกแม้พ้นนรกขึ้นมาแล้ว ยังมีเศษกรรมชั่วติดตัวขึ้นมาอีก มาเสวยชาติเป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์เดรัจฉาน ทรมานตามวิบากของตนที่เคยทำมา กว่าจะได้มาเกิดเป็นคนจึงแสนลำบาก เพราะกรรมชั่วกดถ่วงไว้

ถ้าเรารักษาศีล ๕ คืองดเว้นจากโทษ ๕ ประการดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อจุติกายทำลายขันธ์ไป ก็จะมีสวรรค์เป็นที่ไปสู่สุคติ อันเป็นความหวังหลังจากได้สร้างบุญกรรมเอาไว้ เมื่อถึงคราวจุติจากสวรรค์ ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ รูปสวยรวยทรัพย์ แล้วก็ได้สร้างบารมีใหม่อีกต่อไปจนได้มรรคได้ผล เข้าสู่นิพพาน”



>> เผชิญช้างที่ป่าแม่ปาง 
หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวน ได้ไปพักภาวนาในป่าแห่งหนึ่ง เรียกว่าบ้านแม่ปาง อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง ก็มีเหตุผจญภัยกับช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

หลวงปู่เล่าว่า พอผ่านเรื่องช้างจากคราวนั้นแล้วไม่นาน ก็ไปเจอช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่แม่ปาง จังหวัดลำปาง คราวนี้เป็นช้างป่าจริงๆ ไม่ใช่ช้างบ้านที่เขาเลี้ยงไว้เหมือนกับคราวก่อน

เหตุการณ์เกิดในตอนกลางคืน ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงสัตว์ใหญ่คือช้างบุกเข้ามา เสียงไม้หักปึงปังมาตลอดทาง เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่ามันจะต้องมุ่งโฉมหน้ามาทางที่ท่านอยู่อย่างแน่นอน

เสียงช้างใกล้เข้ามาทุกที ยามกลางคืนดึกดื่นเช่นนั้นไม่รู้ว่าจะหลบหลีกไปทางไหนได้ทัน พลันได้คิดว่าช้างป่าทั้งหลายกลัวแสงไฟ จะก่อกองไฟก็ทำไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย (อาจทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยตายได้ แม้แต่ขุดดิน ถางหญ้า เด็ดใบไม้ ดอกไม้ เก็บผลไม้ ตัดต้นไม้ ก็ทำไม่ได้เช่นกัน)

เผอิญช่วงนั้นมีคณะทหารมากราบหลวงปู่ แล้วได้ถวายเทียนไขท่านไว้จำนวนหนึ่ง หลวงปู่รีบออกจากทางเดินจงกรม ไปเอาเทียนไขที่อยู่ในกุฏิที่พักมาทั้งหมด มาจุดแล้วเอาไปปักเรียงรายตามทางเดินจงกรม สายตาคนเรามองดูแล้วสว่างไสว แต่ช้างจะมองเห็นในแง่ไหนเราไม่ทราบได้

ช้างมาประชิดตัว

พอหลวงปู่จุดเทียนปักไว้เสร็จเท่านั้น ช้างก็มาถึงพอดี ท่านไม่มีทางหลบหลีกปลีกตัว ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ช้างใหญ่ตัวนี้ทำอันตรายแก่ข้าพระพุทธเจ้าได้

พออธิษฐานจบ ช้างก็เข้าประชิดทางจงกรมพอดี มันหยุดยืนกางหูผึ่งอยู่ ไม่กระดุกกระดิกอวัยวะส่วนใดๆ อยู่ข้างทางเดินจงกรม ห่างจากหลวงปู่เพียงวาเศษ ท่ามกลางแสงเทียนไฟสว่างไสว ตามแนวทางเดิน ทำให้มองเห็นช้างได้ถนัดชัดเจน

หลวงปู่ท่านว่า ความรู้สึกบอกว่าช้างนั้นตัวใหญ่เท่าภูเขาลูกย่อมๆ นี่เอง ท่านเพียงชำเรืองหางตาดูมัน แล้วข่มใจเดินจงกรมไปมาไม่ แสดงท่าทางสนใจมันเลย ทั้งที่ใจจริงแล้วนึกกลัวมันเต็มที่ ท่านบอกว่าใจเหมือนกับจะขาดลมหายใจไปแล้ว ตั้งแต่เห็นช้างตัวใหญ่เดินรี่เข้ามาหาอย่างผึ่งผายตั้งแต่ทีแรก

หลวงปู่เดินจงกรมไปมา กำหนดคำบริกรรมว่าพุท-โธ อย่างถี่ยิบ ไม่กล้าส่งใจไปนอกตัว มีความรู้สึกที่เกี่ยวพันกับองค์พุทโธอย่างเหนียวแน่น ที่น้อมระลึกมาเป็นองค์ประกันชีวิตเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ได้นึกถึงอะไรเลย

แม้ช้างตัวที่ใหญ่โตเท่าภูเขาทั้งลูกมายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรม ท่านก็ไม่ยอมส่งจิตออกไปหามัน กลัวจิตจะพรากจากพุทโธซึ่งเป็นองค์สรณะ คือที่พึ่งอันประเสริฐสุดในเวลานั้น

เกิดความกล้าอย่างประหลาด

หลวงปู่เดินจงกรมไปมา พุทโธกับจิตกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนใจหายกลัว เหลือแต่ความรู้กับคำบริกรรมพุทโธ ซึ่งกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ช้างยังคงยืนคุมเชิงหลวงปู่อยู่ ราวกับภูเขาไม่ยอมกระดุกกระดิกตัว ท่านชำเรืองหางตาดูเห็นหูมันกางผึ่งราวกับจะแผ่เมตตาให้ก็ไม่ยอมรับ เท่าที่เห็นมันเดินเข้ามาหาท่านทีแรก เหมือนดังจะเข้ามาขยี้ขยำท่าน อย่างไม่รีรอแม้ชั่ววินาทีหนึ่งเลย

แต่ขณะนั้นมันกลับยืนตัวแข็งทื่อราวกับสัตว์ไม่มีหัวใจ พอจิตกับพุทโธเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ท่านก็หายกลัวแถมเกิดความกล้าหาญขึ้นมาอย่างประหลาด สามารถเดินไปหามันอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ท่านมาคิดอีกแง่หนึ่งว่า การเดินเข้าไปหาช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย อาจเป็นฐานะแห่งความประมาทอวดดีก็ได้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ

หลวงปู่จึงยังเดินจงกรมไปตามปกติ แข่งกับการยืนของช้างอย่างองอาจกล้าหาญ ราวกับไม่มีภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ณ ที่นั้น

นับแต่ขณะช้างป่าตัวนั้นเดินเข้ามายืนอยู่ที่นั่น เป็นเวลาชั่วโมงเศษๆ ไฟเทียนไขชนิดยาวๆ ที่จุดไว้บางเล่ม ก็เหลือสั้นจวนจะหมด ยังมีเปลวเทียนแสงริบรี่เท่านั้น

พลันช้างหันหลังกลับไปทางเดิมที่มันมา และเที่ยวหากินแถบบริเวณนั้น เสียงหักกิ่งไม้กินเป็นอาหารดังสนั่นป่าทีเดียว

เชื่อมั่นในจิตกับพุทโธ

หลวงปู่ขาวได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต และความอัศจรรย์ของพุทโธ อย่างประจักษ์ใจในคราวนั้น เพราะเป็นคราวขับขันจริงๆ ไม่สามารถหลบหลีกปลีกตัวไปที่ไหนให้พ้นได้ นอกจากต้องสู้ด้วยวิธีนั้นเท่านั้น แม้ตายก็ยอมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

นับแต่เหตุการณ์นั้นมา ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าจิตกับพุทโธได้เข้ามาสนิทสนมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักธรรมชาติแล้ว ไม่มีอะไรสามารถทำอันตรายได้อย่างแน่นอน นี่เป็นความเชื่ออย่างสนิทใจของหลวงปู่ตลอดมา

หลวงปู่บอกว่าช้างตัวนั้นก็เป็นช้างที่แปลกอยู่มาก เวลาเข้ามาถึงที่นั่นแล้ว แทนที่จะแสดงอาการอย่างไรก็ไม่แสดง คงยืนนิ่งหูกางอย่างสงบ เฝ้าดูท่านเดินจงกรมกลับไปกลับมาอย่างไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย พอดูเต็มตาและเต็มที่แล้วก็หันหลังกลับทางเก่า แล้วเที่ยวหากินไปตามประสาของมัน และหายเงียบไปเลย มันเป็นสัตว์ที่น่ารักอีกตัวสำหรับท่าน

หลวงปู่บอกอีกว่า ช้างตัวนี้น่ารักไม่แพ้ตัวที่มากินมะขามเปรี้ยว ตัวนั้นเป็นสัตว์บ้านที่รู้ภาษาคนได้ดี ส่วนตัวหลังนี้เป็นสัตว์ป่ามาแต่กำเนิด อายุคงไม่ต่ำกว่าร้อยปี ไม่อาจรู้ภาษาคนได้ ท่านจึงไม่ได้พูดอะไรกับมัน เป็นแต่เดินจงกรมเฉยอยู่อย่างนั้น

ช้างเทพบันดาล

ช้างตัวหลังที่มาหาหลวงปู่นั้นไม่มีลูกพรวนแขวนคอ และไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นช้างบ้าน ทั้งชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นช้างป่า และเคยเป็นนายโขลงมานาน เฉพาะคราวนี้ทำไมจึงแตกโขลงมาเที่ยวแต่ตัวเดียวก็ไม่ทราบ อาจจะพรากจากโขลงมาชั่วคราวก็ได้

แม้ช้างตัวนั้นหนีไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังเดินจงกรมต่อไป ด้วยความอัศจรรย์ใจ และเห็นคุณค่าของช้างตัวนั้นที่มาช่วยให้จิตท่านได้เห็นความอัศจรรย์ในธรรมเกี่ยวกับความกลัวความกล้า ช้างตัวนี้มาช่วยเสริมให้รู้เรื่องนี้ได้อย่างประจักษ์ใจ หมดทางสงสัย

ช้างตัวนั้นจึงเหมือนช้างเทวบุตรหรือช้างเทพบันดาลก็ไม่น่าจะผิด เพราะธรรมดาช้างในป่า ซึ่งไม่คุ้นเคยและให้อภัยแก่ผู้ใด นอกจากมันจะสู้ไม่ไหวจริงๆ แล้ว จึงรีบวิ่งหนีเอาตัวรอดเท่านั้น แต่ช้างตัวนี้ตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าเข้าหาหลวงปู่ด้วยตัวของมันเอง มิได้ถูกบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีใดๆ หรือจากผู้ใด มันเดินตรงเข้ามาหาหลวงปู่ทั้งที่ไฟก็สว่างอยู่รอบด้าน แทนที่มันจะตรงเข้าขยี้ขยำร่างของท่านด้วยกำลังของมัน กลับไม่ทำ หรือแทนที่จะตกใจกลัวไฟรีบหนีเข้าป่า ก็ไม่ไป กลับเดินอย่างองอาจเข้าหาหลวงปู่ พอมาถึงกลับยืนดูหลวงปู่เดินจงกรมไปมาเป็นเวลาตั้งชั่วโมงเศษๆ แล้วมันก็หันหลังกลับไป โดยไม่แสดงอาการกล้าหรือกลัวใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าพิศวงมาก

จากคราวนั้นมาไม่ว่าหลวงปู่จะไปหรือพักที่ใด ก็ไม่คิดกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อธรรมอย่างถึงใจแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สมกับธรรมในบทที่ว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้ตายจมดินจมน้ำแบบขอนซุงแน่นอน



>> อาสาไปเจรจากับช้าง
หลวงปู่ขาวออกเดินทางไปสมทบกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ในที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเท่าใดนัก เพื่อร่วมเดินทางไปวิเวกยังสถานที่แห่งหนึ่งชื่อบ้านแม่กะตำ เมื่อคณะพระธุดงค์เดินไปถึงช่องเขาแห่งหนึ่ง ก็เจอช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนกินใบไผ่ขวางทางอยู่ตรงช่องเขานั้นพอดี และเป็นทางเดียวที่จะเดินผ่านไปได้ ถ้าไปทางอื่นต้องปีนเขาสูง ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ทางนี้จึงเป็นทางลัดที่สุดที่จะไปบ้านแม่กะตำได้

หลวงปู่มั่นจึงปรึกษากับศิษย์ว่าจะทำอย่างไร พระรูปหนึ่งอาสาไปตามชาวเขาที่อยู่แถวนั้นให้มาช่วยไล่ช้างให้หลีกทางให้

ชาวเขาเหล่านั้นปฏิเสธว่า “ฮึฮึ ขะเจ้าก็กลัวตายเหมือนกัน นิมนต์ตุ๊เจ้าไล่เองเถิด”

หลวงปู่ขาวจึงอาสาไปขอเจรจากับช้าง เพราะท่านเคยผจญกับช้างมาหลายครั้งแล้ว น่าจะพูดกันรู้เรื่อง

หลวงปู่มั่น จึงบอกว่า “เอ้อ ยังนั้นก็ลองไปดู”

ช้างกำลังกินใบไผ่และหันหลังให้พระ หลวงปู่ขาวได้เพ่งจิตแผ่เมตตาให้ช้าง แล้วพูดกับช้างว่า

“ดูก่อนพี่ชาย พ่อมหาจำเริญ ผู้มีกำลังมหาศาล ทั้งสังขารร่างกายก็อ้วนพีดีงาม ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีกำลังวังชาเพียงเล็กน้อย ทั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่ได้คิดมุ่งร้ายหมายขวัญต่อใครทั้งหมด ขอพี่ชายผู้มีกำลังมหาศาล จงได้หลีกทางให้พวกข้าพเจ้าผู้น้อยเดินทางไปด้วยเถิด”

ช้างหันหน้ามาทางหลวงปู่ขาวขยับหูดังพึบพับ แล้วเดินหลบไปข้างทาง เอางาซุกไว้กับกอไผ่สงบนิ่งอยู่ ราวกับจะร้องบอกนิมนต์ว่า “ตุ๊เจ้าไปเถิด”

หลวงปู่มั่นเห็นเช่นก็บอกพระลูกศิษย์ว่า “ไปได้ ไปได้ ไปได้แล้ว”

พระทุกองค์จึงเดินเรียงแถวผ่านช้างไปได้อย่างปลอดภัย

พระอาจารย์มนู เดินรั้งท้ายสุด ปกติท่านกลัวช้างมากอยู่แล้ว บังเอิญตะขอกลดของท่านเกิดไปเกี่ยวอยู่กับกิ่งไผ่ข้างทาง ท่านคิดว่าช้างมันดึงเอาไว้ ไม่กล้าเหลียวหลังไปมอง

อาจารย์มนูออกแรงกระชากติดๆ กันหลายครั้ง ตะขอก็ไม่หลุด ท่านยิ่งกลัวหนัก จะร้องให้พระองค์อื่นช่วยก็กลัวจะถูกหลวงปู่มั่นตำหนิเอา เพราะพระอาจารย์ท่านไม่ชอบพระธุดงค์ขี้ขลาด ท่านจะว่าเอาแรงๆ

หลวงปู่บอกว่า พระอาจารย์มนูกลัวช้างถึงกับปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว ท่านจึงตัดสินใจกระชากกลดเต็มที่ ตะขอหลุด ท่านถึงกับล้มคะมำไปข้างหน้า ท่านหันไปมองข้างหลังเห็นช้างใหญ่ยังยืนสงบนิ่งอยู่ที่เดิม ตะขอไปเกี่ยวกับกิ่งไผ่ต่างหาก

พระอาจารย์มนูถึงกับละอายใจตัวเอง รีบลุกขึ้นแล้วเดินตามคณะพระธุดงค์ไป ภายหลังได้เล่าให้หมู่พวกที่ร่วมเดินทางได้ฟังกันอย่างขบขันยิ่ง




>> ช้างปู่หลุบภูพาน
ในประวัติของหลวงปู่ขาว อนาลโย มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบรรดาช้างเสืออยู่เสมอ ตั้งแต่ครั้งที่ท่านอยู่เชียงใหม่จนถึงขณะอยู่ถ้ำกลองเพล

หลวงปู่เล่าว่า ตอนมาอยู่ถ้ำกลองเพลใหม่ๆ นั้น สถานที่นี้เต็มไปด้วยป่าดงดิบหนาทึบเลยทีเดียว ในเวลากลางดึกสงัด จะมีช้างเป็นฝูงๆ มาเดินเพ่นพ่านอยู่บริเวณวัด ฝูงละ ๑๑ ตัว ๗ ตัว ๕ ตัว ๓ ตัว โดยไม่เกรงกลัวผู้ใด

หลวงปู่เล่าว่า ในคืนวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ คืนหนึ่งมีช้างใหญ่เชือกหนึ่งมาไหว้พระอยู่หลังถ้ำทางด้านทิศเหนือ หลังจากพระท่านทำวัตรเสร็จแล้ว ช้างเชือกนั้นก็กลับออกไปทางทางทิศตะวันออกของถ้ำ เพื่อหากินตามประสาของมัน

ช้างเชือกนั้นเดินออกจากวัดไปถึงบ้านนายอ้อง-นางกี่ เป็นบ้านที่สร้างในลักษณะเพิงหมาแหงน ตั้งอยู่หลังเดียวในป่าบริเวณนั้น

ปรากฏว่า หมาของนายอ้องวิ่งออกจากบ้านมาเห่าช้างเสียงดังไม่ยอมหยุด จนนายอ้องเกิดรำคราญ จึงหยิบปืนแก๊ปเดินออกจากบ้าน มองไปตามเสียงหมาเห่า มองเห็นช้างตัวใหญ่มาแถวนั้นโดยลำพังตัวเดียว จึงยกปืนขึ้นยิงออกไป พร้อมตะโกนออกไปว่า “มึงมาทางนี้ทำไม เดี๋ยวก็ถูกปืนยิงหรอก อ้ายใจน้อยตาน้อยหูใหญ่ หนีไปอย่าเข้ามาในเขตนั้น”

ช้างก็หนีไป ซึ่งหลวงปู่บอกว่ามันคงเจ็บใจและผูกอาฆาต

หลังจากนั้นสองสามวัน นางกี่ภรรยานายอ้องแกไปธุระที่บ้านโนนทัน ขากลับได้หาบข้าวเปลือกมาด้วย พร้อมกับลูกสาวตัวเล็กเดินมาด้วยหนึ่งคน

ในระหว่างทางนางกี่ก็พบช้างใหญ่ตัวนั้น มันแผดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว งวงถอนเอาต้นกล้วยบริเวณนั้นแล้ววิ่งใส่เอาต้นกล้วยไล่ตีนางกี่

นางกี่ทิ้งหาบข้าวเปลือก รีบกระชากมือลูกสาววิ่งหนีสุดฤทธิ์ ช้างก็วิ่งไล่ตามไม่ลดละ นางไปพบขอนไม้ใหญ่ล้มอยู่ จึงพาลูกสาวไปหลบอยู่ข้างขอนไม้นั้น

ทีแรกช้างวิ่งเลยไป พอมองเห็นมันก็วิ่งกลับมา นางกี่และลูกน้อยสุดที่จะหนีได้ทัน ช้างใช้งวงฟาดกระหน่ำไปที่ขอนไม้ พร้อมทั้งใช้เท้ากระทืบจนหนำใจ แล้วจึงหนีไป

ชาวบ้านได้ออกมาช่วยเหลือ พบว่านางกี่นอนหายใจระรวยอยู่ใต้ขอนไม้ แกไม่ตายแต่ลูกน้อยแบนอยู่ ณ ที่นั้น ยังความสลดสังเวชแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก
หลวงปู่เล่าถึงช้างเชือกนั้นว่า “มันสำคัญเป็นช้างของพี่ปู่หลุบพาน” (เจ้าพ่อปู่หลุบ แห่งเทือกเขาภูพาน) มันสามารถฟังรู้สำเนียงคนพูดได้เข้าใจ หากใครไปด่าว่าท้าทาย หรือพูดว่ามันให้เสียๆ หายๆ มันจะคอยทำอันตรายเอาจนสมใจแค้นเลยทีเดียว

ตรงกันข้าม ถ้าใครพูดดี พูดไพเราะเสนาะโสต มันก็ไม่เข้ามารบกวน เช่นพูดว่า “พ่อตู้พ่อตา (ปู่หรือตา) อย่ามาทำอันตรายหรือรบกวนบรรดาลูกหลานเลย ลูกหลานขอทำไร่ทำสวน เพื่อยังชีพลูกพร้อมทั้งเอาไปทำบุญทำทาน จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ชาติหน้าจะได้ไปเกิดในชั้นสวรรค์ต่อไป”


ถ้าพูดอย่างนี้ ช้างเชือกนั้นจะไม่มาทำอันตรายแต่ประการใด พร้อมทั้งหลบหลีกเปิดทางให้หรือเดินจากไปโดยไม่มายุ่งเกี่ยวเลย




>> กระต่ายน้อยร่วมเดินจงกรม
หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เล่าเรื่องที่ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ที่บ้านปู่พระยา ดอยมูเซอร์ ว่า วันหนึ่ง หลวงปู่ลงไปเดินจงกรมในเวลาพลบค่ำ ไม่ได้จุดโคมไฟแต่อย่างใด พอเดินไปสักครู่ ก็รู้สึกว่ามีสัตว์อะไรอย่างหนึ่ง มากระทบเข้ากับเท้าของท่าน ท่านไม่ได้ให้ความสนใจ ยังเดินจงกรมตามปกติ

ต่อมาอีกประเดี๋ยว สัตว์นั้นก็มากระทบเท้าของท่านอีก ท่านก็บอกด้วยความเมตตาว่า “ระวังหนา ระวังหนา เดี๋ยวเรามองไม่เห็น เราจะเหยียบเจ้าหนา จะหาว่าเราไม่เตือน”

เมื่อสัตว์นั้นมากระทบเท้าท่านหลายครั้งเข้า จึงเอะใจว่า “เอ๊ะ ! มันอะไรกันแน่นะ”

หลวงปู่จึงเดินไปจุดโคมไฟขึ้น จึงเห็นเป็นเจ้าเชี่ยงเมี่ยง (กระต่ายน้อย)

หลวงปู่ถามด้วยความเมตตาว่า “เจ้ามาเดินจงกรมกับเราหรือ” ดูท่าทางมันน่ารักน่าเอ็นดู แสดงอาการตอบรับด้วยการยกเท้าหน้าทั้งสองขึ้น คล้ายกับประนมมือไหว้ หูทั้งสองข้างลู่ไปตามลำตัวอย่างน่าสงสาร มันไม่กลัวหลวงปู่เลย

หลวงปู่พูดกับเจ้าเชียงเมี่ยงน้อยว่า “เจ้านี่ก็ดูดีกว่ามนุษย์บางคนอีกหนอ มาหัดเดินจงกรมกับเรา มนุษย์เขาว่าใจสูง เขาว่าเขาเก่งแล้ว แต่เขาก็สู้เจ้าไม่ได้ เพราะบางคนเดินเป็น แต่เดินจงกรมภาวนาไม่เป็น”

หลังจากฟังหลวงปู่พูดแล้ว กระต่ายน้อยก็กระโดดออกจากทางเดินจงกรม ไปเล็มหญ้าหากินตามประสาของมัน

คืนต่อๆ มา เจ้ากระต่ายน้อยก็กระโดดออกจากทางเดินจงกรม กับหลวงปู่เป็นประจำ ดูมันมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้กับหลวงปู่

สมณานัญจะ ทัสสะนัง การได้เห็นสมณผู้สงบ ผู้สะอาด ผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ผู้ทรงไว้ด้วยเมตตาธรรม นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง เอตัมมัง คะละมุตตะมังฯ




>> พิจารณาธรรมจากนกแซงแซว
เมื่อออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระภิกษุแต่ละรูปต่างแยกย้ายกันวิเวกไปคนละทิศละทาง ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านวิเวกไปทางเมืองพร้าว ส่วนหลวงปู่ขาวเองก็มุ่งเข้าป่าดงพงไพรในเขตอำเภอพร้าวนั้น แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นที่ใด

เมื่อหลวงปู่ขาวไปถึงป่าที่กว้างใหญ่แห่งหนึ่ง ท่านได้นั่งภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ข้างบนมีรังนกแซงแซวอยู่รังหนึ่ง มีแม่นกเฝ้ารังอยู่ พร้อมด้วยลูกน้อย ๒ ตัว สักพักหนึ่งพ่อนกก็บินกลับมาจากหาอาหาร เพื่อเลี้ยงดูลูกเมียของมัน ดูไปแล้วก็เหมือนมนุษย์เรา

หลวงปู่เล่าว่า นกตัวเมียเกิดระแวง สงสัยว่านกตัวผู้ไม่ซื่อสัตย์เพราะกลับมาช้าผิดปกติ คงแอบไปเชยชมกับนกตัวใหม่ พอนกตัวผู้มาถึงรัง นกตัวเมียทำท่าโกรธ รีบกระโดดออกจากรัง ขยับปีกเสียงดังเฟี้ยวๆ ดูคล้ายผู้หญิงที่หึงสามีจนตัวสั่น แล้วก็ด่าว่านกตัวผู้ด้วยเสียงดังว่า “ห่ากินมึง ผีกินมึง” พูดซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น

นกตัวผู้พยายามส่งเสียงอธิบายว่า “พี่กลับมาช้า เพราะวันนี้หาอาหารได้ยากเหลือเกิน”

นกตัวตัวเมียไม่ยอมฟัง ส่งเสียงดังว่า “อย่า อย่ามาแก้ตัวนะ” แล้วก็ด่าว่า “ห่ากินมึง ผีกินมึง ห่ากินตับกินปอดมึง” ด่าซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

นกตัวผู้สุดจะอดทน ขยับปีกเข้าใกล้ แล้วด่ากลับคืนว่า “อีจองหอง อีจองหอง”

ต่างตัวต่างด่ากันถี่ยิบ ไม่มีใครฟังใคร

หลังจากนั้นนกทั้งสองตัวก็จิกตีกันถึงขั้นตะลุมบอน ทั้งส่งเสียงจากปาก และขยับปีกตีกัน จิกกันดูวุ่นวายไปหมด

หลวงปู่เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็รู้สึกขบขันทั้งปลงสังเวช นี่แหละหนอกิเลส ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์

เมื่อสงครามเกิดขึ้นสักพัก ตัวเมียสู้กำลังนกตัวผู้ไม่ได้ ก็บินหนีทิ้งรังไป ปล่อยให้ลูกน้อยทั้งสองส่งเสียงร้องด้วยความหิว

ฝ่ายนกตัวผู้ดูท่าจะโมโหจนลืมตัว ตรงเข้าจิกตีลูกน้อยทั้งสอง จนร่วงตกลงมาใกล้กับที่หลวงปู่นั่งอยู่ ทั้งพ่อนกแม่นกต่างก็บินหนีไปคนละทิศละทาง ปล่อยให้ลูกน้อยที่ยังไม่มีปีกมีขนหล่นตกลงมาที่พื้นดิน

หลวงปู่ก็เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับนกแซงแซวที่ท่านพบเห็นมาเพียงแค่นี้ ในบันทึกก็ไม่ได้พูดต่อว่าเป็นอย่างไร

ผู้เขียน (หมายถึงคนที่เขียนหนังสือนี้) เอง ก็ไม่มีบทสรุปในเรื่องนี้ แต่เชื่อมั่นว่าหลวงปู่ขาว ฟังเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ รู้เรื่อง เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ เหมือนกัน




 
>> เรื่องนกอีกคู่หนึ่ง
หลวงปู่ขาวยังคงบำเพ็ญเพียรอยู่ที่เดิม หลังจากนั้นอีกสามสี่วัน ก็มีนกอีกคู่หนึ่งบินมาจับกิ่งที่ต้นไม้เดิม ดูท่าทางมันคุยกันอย่างมีความสุขตามประสาหนุ่มสาว ไม่เหมือนกับนกแซงแซวคู่แรกที่มีลูกด้วยกันแล้ว

นกคู่หลังนี้ต่างตัวต่างก็พูดคำหวานให้กัน นกตัวผู้พูดว่า “รีรอ ริร่อ รักพี่ตัวเดียวนะน้อง”

หลวงปู่เล่าแค่นี้แล้วท่านก็หัวเราะ แล้วท่านก็พูดกับลูกศิษย์ฆารวาสว่า “เจ้านกสองตัวนี้ คงจะแต่งงานกันใหม่ๆ เพิ่งไปเข้าพิธีวิวาห์มา แล้วแยกจากหมู่พวกมาอยู่กันสองตัว”

หลวงปู่เล่าอย่างอารมณ์ดี แล้วท่านก็พูดว่า “ไม่ว่าคนหรือสัตว์ วัฏฏะเหมือนกันทั้งนั้น”

ท้ายสุดหลวงปู่ก็ให้โอวาทว่า “เป็นผัวเมียกัน คำว่ากูมึงอย่านำมาพูดกัน อย่านำมาใช้เรียกกัน พูดกันด้วยความไพเราะเพราะพริ้ง จะได้อยู่กันได้ชั่วชีวัน”


ข้อมูลจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2872

อภิญญา 6

 อภิญญามี ๖ อย่าง ได้แก่
๑) อิทธิวิธอภิญญา (มีปัญญาสามารถแสดงฤทธ์ได้)
๒) ทิพพโสตอภิญญา (มีปัญญาสามารถได้ยินเสียงที่อยู่ในที่ไกลหรือแม้เสียงทิพย์ได้)
๓) ปรจิตตวิชชานนอภิญญา (มีปัญญาสามารถรู้วาระจิตผู้อื่นได้)
๔) ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา (มีปัญญาสามารถระลึกถึงขันธ์ของตนในภพก่อนๆได้)
๕) ทิพพจักขุอภิญญา (มีปัญญาสามารถมีเห็นสิ่งที่อยู่ไกลหรือแม้สิ่งที่เป็นทิพย์ได้)
๖) อาสวักขยอภิญญา (มีปัญญาสามารถกระทำอาสวะให้สิ้นไป)

อภิญญา ๕ อย่าง (ยกเว้นอย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ) เป็นโลกียอภิญญา เกิดขึ้นด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน จนได้สมาบัติ ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔ (โดยจตุกนัย) และ อรูปฌาน ๔ และหลังจากได้ฌานทั้ง ๘ นี้แล้ว ต้องฝึก ฌานกีฬา ด้วย จึงจะสามารถแสดงอภิญญาได้ ส่วนอภิญญาข้อสุดท้าย เป็นโลกุตรอภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อรหัตมรรคญาณ ซึ่งเกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

อานาปานสติกรรมฐาน ปฏิบัติได้ถึงรูปฌานที่ ๔ แต่ไม่เป็นบาทของ อรูปฌาน เพราะ อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เกิดขึ้นได้โดยการเพิกกสิณบัญญัติ แล้วมี " กสินุฆาฏิมากาสบัญญัติ " เป็นอารมณ์ หมายความว่า ต้องเจิรญกสินกรรมฐาน จึงจะเจริญอรูปฌานต่อได้

ฉะนั้น อานาปานสติกรรมฐานอย่างเดียวจึงไม่เป็นบาทของอภิญญา ผู้ที่จะได้อภิญญา ต้องเจริญกสินกรรมฐานจนได้รูปฌานที่ ๔ แล้ว " เพิกกสิน " เจริญอรูปกรรมฐาน ๔ อย่างตามลำดับ จนสำเร็จ แล้วต้องฝึกฝน " ฌานกีฬา " จนเกิดความชำนาญ เมื่อทำได้ดังนี้จึงจะแสดงโลกียอภิญญา ๕ อย่างได้

อนึ่ง อภิญญาเกิดจากการ เจริญสมถกรรมฐาน ไม่เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

อานิสงส์ของสมถกรรมฐาน คือ ฌาน และ อภิญญา ส่วนอานิสงส์ของวิปัสสนากรรมฐาน คือ มรรค ผล นิพพาน

ข้อมูลจาก http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003261.htm




แม่ชีบุญเรือน โฮงบุญเติม (ผู้มีอภิญญา 6)

แม่ชีก็เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ใฝ่ธรรมะ ถือศีล 5 มาตลอด บางช่วงก็ถือศีล 8 แล้วหาครูอาจารย์ให้สอนทางสมาธิวิปัสสนา ซึ่งแม่ชีก็พยายามปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่บรรลุมรรคผลอะไร
 
แม่ชีจะปฏิบัติธรรมที่วัดอาวุธฯ (วัดบางพลัด) แถวจรัลสนิทวงศ์ ซึ่งวัจฉโคตรก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน หลังจากที่ปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แม่ชีบุญเรือนก็ตัดสินใจถือศีล 8 เลิกยุ่งเกี่ยวกับครอบครัว หันมาอยู่วัดมากขึ้น วันหนึ่งจึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า "จะมุ่งปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตายให้ได้ภายใน 90 วัน" แล้วเริ่มปฏิบัติอย่างเอาจริง ทั้งการรักษาศีล 8 ให้บริสุทธิ์ที่สุด การนั่งสมาธิ-วิปัสสนา เดินจงกรมอย่างไม่ย่อท้อ จนถึงวันที่ 89 ก็ยังไม่พบอะไร ดังนั้นในวันสุดท้าย แม่ชีได้ตั้งสัจจะอีกครั้งว่า ถ้าไม่บรรลุมรรคผล ก็ขอยอมตาย และวันที่ 90 นั้นเอง ท่านนั่งสมาธิอยู่ก็เกิดอาการหายใจไม่ออก ร่างกายเหมือนจะแตกดับ ท่านก็นึกในใจว่า ตายก็ตายไม่เสียดายชีวิตแล้ว ทันใดนั้นเองก็มีแสงสว่างไสว กายของท่านโปร่งเบา รู้เห็นอะไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ ท่านจึงรู้ว่าท่านบรรลุได้อภิญญา 6 แล้ว (มีฤทธิ์เดช เช่น เหาะได้ หายตัวได้ เดินทะลุกำแพง-ภูเขาได้ เดินบนน้ำได้ ฯลฯ)
 
แม่ชีบุญเรือนได้ใช้อภิญญาของท่านช่วยรักษาโรคให้กับคนทั่วไป และได้ผลดี มีลูกศิษย์มากมาย ท่านเดินทางไปรักษาทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะอยู่ที่วัดอาวุธฯ  ยาของท่านไม่มีอะไรมากมาย เช่น น้ำ-ไพล-ปูน-พริกไทย โดยท่านจะอธิษฐานให้สิ่งเหล่านี้มีพลังสามารถรักษาโรคได้
 
แม่ชีละสังขารเมื่อปี 2507 ทุกวันนี้ที่วัดอาวุธฯ (วัดบางพลัด) ก็มีลูกศิษย์มากราบไหว้บูชาโดยมีรูปปั้นของท่านประดิษฐานไว้ให้คนกราบไหว้