พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Sunday 28 October 2012

พระอริยบุคคล 4 ประเภท

พระอริยบุคคล 4

พระโสดาบัน
พระสกทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์



" พระอริยบุคคล " ได้แก่บุคคลผู้ประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนาหรือในโลกนี้ ความประเสริฐสูงสุดของท่านเหล่านั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำให้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดในด้านปัญญา ในด้านความบริสุทธิ์และในด้านความกรุณา อันเป็นคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า เป็นต้น การจำแนกพระอริยบุคคลออกเป็น 4 ประเภทนั้น ท่านจำแนกโดยการที่พระอริยบุคคลเหล่านั้นสามารถละกิเลสทั้ง 3 ระดับ คืออย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ได้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องกำหนดความแตกต่างของพระอริยบุคคล ท่านกำหนดที่การละสังโยชน์ 10 ประการได้ไม่เท่ากัน คือ
1. พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลชั้นแรก ท่านละสังโยชน์คือกิเลสผูกใจสัตว์ไว้ได้ 3 ประการ
1.1 สักกายทิฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัว ถือเรา ถือเขา จนมีความเป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเราพวกเขากัน ตลอดจนถึงความยึดมั่น ถือมั่นว่าเราเป็นขันธ์ 5   ขันธ์ 5 คือเรา   เรามีในขันธ์ 5 และขันธ์ 5 มีในเรา
1.2 วิจิกิจฉา คือความแคลบแคลงสงสัย ไม่แน่ใจในพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในไตรสิกขา ในเรื่องอดีต ในเรื่องอนาคต ทั้งในอดีต และอนาคตกับในกฎของปฏิจสมุปบาท
1.3 สีลัพพตปรามาส คือ การถือมั่นด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยข้อปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยความปักใจฝังใจกัน ว่าสิ่งนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ว่าสิ่งนี้เท่านั้นเป็นจริง สิ่งอื่นไม่เป็นจริง

 

                    2. พระสกทาคามี แปลว่า ผู้จะเกิดอีกครั้งเดียว หรือผู้จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวแล้วก็บรรลุอรหัต เป็นพระอรหันต์ การละสังโยชน์ของพระสกทาคามีนั้น ไม่ได้บอกไว้เด่นชัดเพียงแต่ว่า ท่านสามารถลดความรุนแรงของโลภะ โทสะ โมหะ ได้มากกว่าพระโสดาบัน ซึ่งหมายความว่า ปัญญา ความบริสุทธิ์ ความกรุณา ของท่านได้สูงขึ้นตามไปด้วย

                    
 
  3. พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาสู่โลกนี้อีก หลังจากตายไปแล้ว ก็จะบังเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ที่แปลว่าเป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ และจะบรรลุอรหัตนิพพานในพรหมโลกนั้น พระอนาคามีท่านละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อคือ
3.1 กามราคะ ความกำหนัดในวัตถุทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเกิดจากอำนาจของกิเลสกาม หมายความว่า ท่านละกิเลสกามได้เด็ดขาด
3.2 ปฏิฆะ คือ ความรู้สึกกระทบกระทั่งหงุดหงิดไม่พอใจ ไม่ชอบใจออกไปได้ จากจิตอย่างเด็ดขาด

             
 
        4. พระอรหันต์ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้หักกรรมแห่งสังสารจักร เป็นผู้ควร ไหว้ ควรบูชา ควรเคารพสักการะของบุคคลทั้งหลาย จัดเป็นพระอริยบุคคลระดับสูงสุดในโลก พระพุทธศาสนา บางครั้งเราก็เรียกท่านว่า อนุพุทธ แปลว่า ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าบางครั้งก็เรียกว่า สาวกพุทธ แปลว่าผู้รู้ในฐานะสาวก พระอรหันต์นั้น ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นจากพระอนาคามี ได้อีก 5 ข้อคือ
4.1 รูปราคะ ความกำหนัด พอใจในโลกธรรมที่ประณีตจนถึงรูปฌาน
4.2 อรูปราคะ ความพอใจในนามธรรมต่าง ๆ มีปิติ ความสุข เป็นต้น จนถึงอรูปฌาน
4.3 มานะ ความถือตัวถือตน
4.4 อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปของจิต
4.5 อวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งเป็นรากเง่าของกิเลสทั้งหลาย อันหมายความว่าในเชิง
เหตุพระโสดาบันและพระสกทาคามีได้ทำศีลให้สมบูรณ์ สมาธิให้สมบูรณ์ ปัญญาเกิดขึ้นพอประมาณ พระอรหันต์นั้นได้ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้สมบูรณ์ จึงก่อให้เกิดผล เป็นความสมบูรณ์แห่งปัญญา ความสมบูรณ์แห่งความบริสุทธิ์ และความสมบูรณ์แห่งกรุณา ภายในจิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเหล่านี้จึงได้ชื่อว่าเป็นทักขิไณยบุคคลเป็นบุญเขตของโลกและเป็นพระสังฆรัตนะอย่างแท้จริง

 

No comments:

Post a Comment