พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง - พระบรมธาตุแบบลังกา

กษัตริย์ชาวพุทธตัวอย่าง -  พระบรมธาตุแบบลังกา

เสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ..คลิกตรงรูป อ่านพระประวัติโดยย่อ..

Tuesday 5 March 2013

บูรพมหากษัตริย์ไทย - สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา






เมื่อปลายกรุงสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองได้สร้างกรุงศรีอยุธยา ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะอิทธิพลของขอมและละโว้ ซึ่งถือว่ากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิด พระเจ้าอู่ทองก็กลายเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 รูปแบบของสถาบันพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาแตกต่างจากสมัยสุโขทัยอย่างมาก ระบอบการปกครองของอยุธยาเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจเป็นล้นพ้น


สังคมในสมัยอยุธยาขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งต่างกับสมัยสุโขทัยที่พระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรเยี่ยงบิดาปกครองบุตร แต่ในสมัยอยุธยาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้าโดยแท้ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ช่วงชิงกันด้วยอำนาจทางทหาร แนวความคิดเกี่ยวกับพราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชและทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นสมมติเทพ


อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของไทยในอดีต มีหลักฐานของการเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะตำนาน พงศาวดารไปจนถึงศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ว่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 1893 นั้น ได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว มีชื่อเรียกว่า เมืองอโยธยา หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร หรือ เมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของเกาะ เมืองอยุธยาเป็นเมืองที่มีความเจริญทางการเมืองการปกครอง และมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง



อาณาจักรอยุธยามีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง 34 พระองค์และมีพระราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันครองรวม 5 ราชวงศ์












พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาที่สำคัญมีดังนี้




สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)



สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ทรงสถสปนาอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 1893 ได้รับการถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาฯ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1893- 1912


สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ณ ชัยภูมิที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความปลอดภัยจากข้าศึกและความอยู่ดีกินดีของชาวอยุธยา พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม อันเนื่องจากมีแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบ ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำของบ้านเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไปที่จะออกสู่ทะเล
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำลักษณะการปกครองทั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรุงสุโขทัยและของขอม มาประยุกต์ใช้กับกรุงศรีอยุธยา ในด้านการแผ่ขยายพระราชอาณาเขต ในปี พ.ศ. 1895 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอมได้สำเร็จ นับว่าเป็นการทำสงครามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. 1897 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปยึดเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลให้พระเจ้าลิไท ได้ส่งราชทูตมาขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และขอเมืองชัยนาทคืน


สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงครองราชย์ได้ 19 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 1912 พระชนมายุได้ 55 พรรษา




สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ



สมเด็จพระไตรโลกนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.1974 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เมื่อพระองค์พระชนมายุได้เจ็ดพรรษา พระราชบิดาได้พระราชทานพระนามตามพระราชประเพณีว่า “สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร” พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.1991 พระชนมายุได้ 17 พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่แปดของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพราชสมัญญาอีกพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2014 พระองค์ได้ทรงรับช้างเผือก ซึ่งนับเป็นช้างเผือกช้างแรกของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง โดยทรงรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานี และแยกฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนออกจากกัน มรการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลขึ้น เป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2031 ครองราชย์ได้ 40 ปี





สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ



สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และทรงเป็นพระอนุชาต่างพระชนนี ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2055 ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคู่กันกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาได้เสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐาน


เมื่อขุนพิเรนทรเทพและคณะ ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อันเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2091 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่สิบห้าของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สถาปนาพระมเหสีเป็นพระสุริโยทัย ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร พระวิสุทธิกษัตรี และพระเทพกษัตรี


เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งให้ขุนพิเรนทรเทพ เป็นพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก แล้วพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีให้เป็นพระมเหสี ขุนอินทรเทพ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช หลวงศรียศ เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม หมื่นราชเสน่หา เป็นเจ้าพระยามหาเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ เป็นพระยาภักดีนุชิต พระยาพิชัย เป็นเจ้าพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก


ในปี พ.ศ.2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน พระเจ้าหงสาวดี (พระเจ้าตะเบงชะเวตี้) ทรงทราบว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังราชอาณาจักรไทย จึงได้ยกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรช้างพระที่นั่งเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทราฯ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร


ในปี พ.ศ. 2092-2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหารและเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงกว่าเดิม ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง โปรดให้จับม้าและช้างให้เข้ามาในราชการ สามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับการขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือกอีกพระนามหนึ่ง


พระเจ้าบุเรงนอง ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ทราบปรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เหตุผลเชิงปฏิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2106 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองเหนือของไทยมาตามลำดับเพือ่ตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายไทยเตรียมตัวป้องกันพระนคร แต่ฝ่ายไทยต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องเสด็จเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดพระเมรุการามกับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือกสี่เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงครามให้แก่พม่า


ในปี พ.ศ.2111 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพ เดินทัพมาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน พระเจ้าบุเรงนองได้ทำอุบายให้พระยาจักรีที่พม่าขอไปพม่าในสงครามครั้งก่อน ลอบเข้ากรุงศรีอยุธยา เป็นไส้สึกให้พม่า จนทำให้การป้องกันกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงไปตามลำดับ หลังจากพม่าล้อมกรุงอยู่เก้าเดือนก็เสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.2112
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2111 ครองราชย์ได้ 20 ปี





สมเด็จพระนเรศวรมหาราช



สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.2098 ที่เมืองพิษณุโลก พระนามเดิม พระองค์ดำ หรือพระนเรศวร
หลังจากเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้นสดมภ์และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรจากหงสาวดีกลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา


สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระมหาอุปราชา ปกครองหัวเมืองทางทิศเหนือ และประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2127 พระองค์ทรงได้ประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากอำนาจของพม่า หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา 15 ปี


เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2133 พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวรหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่2 และโปรดเกล้าฯให้พระเอกาทศรถ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง


ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง
การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปี คือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ.2135


สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองใหญ่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร ยกเลิกให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน


สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148 พระชนมายุ 50 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี




สมเด็จพระนารายณ์มหาราช




สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรืออีกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐาคือ สมเด็จพระเจ้าไชย มีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา


พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2199 เมื่อพระชนม์มายได้ 25 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก


ในด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งกว่าในรัชสมัยอื่นๆ ทรงโปรดเกล้าฯให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้าขายกับต่างประเทศ จึงทำให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับต่างประเทศ


พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งบาทหลวงสามคนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อทั้งสามคนมาถึงแล้วก็ได้มีใบบอกไปยัง พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสันตปาปา ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าจะใช้กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสตศาสนา พระบาทหลวงได้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า เป็นการนำความเจริญมาให้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดทางคริสตศาสนาด้วย


ในปี พ.ศ.2224 สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหายไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ.2226 พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีต จึงได้จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยมีเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ.2228ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทูลขอให้ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า



“การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้”


พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎรทั่วไปที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจ


ต่อมาในปี พ.ศ.2228 เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับ พระองค์ก็ได้จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้ส่งกุลบุตร 12 คน ไปศึกษาวิชาที่ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปรานเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นอย่างมาก ได้ให้เหรียญที่ระลึก และเขียนรูปภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ พระองค์ได้โปรดให้มองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และได้นำทหารฝรั่งเศสจำนวน 636 นาย เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารฝรั่งเศสจำนวนดังกล่าว ไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีกำลังสองกองร้อยให้ไปรักษาเมืองมะริด ซึ่งมีอังกฤษเป็นภัยคุกคามอยู่


ในปี พ.ศ.2230 สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากมีเหตุบาดหมางกันในเรื่องการค้าขายกับอินเดีย รัฐบาลอังกฤษให้บริษัทอังกฤษ เรียกตัวคนอังกฤษทั้งหมดที่รับราชการอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ให้กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวอังกฤษได้มาก่อความวุ่นวายในเมืองมะริดและรุกรานไทยก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไทยได้ เนื่องจากขณะนั้นมีทหารฝรั่งเศสรักษาเมืองมะริดอยู่


ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ ที่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการทำสงครามหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่ การยกกองทัพออกไปตีพม่าที่กรุงอังวะ ตามแบบอย่างที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้ทรงกระทำมาแล้วในอดีต และได้มีการยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งจนได้ชัยชนะ


สมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2231 เมื่อพระชนมายุได้ 50 พรรษา ครองราชย์ได้ 32 ปี





สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ



สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ พระนามเดิม เจ้าฟ้าพร เป็นพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระนามอื่นตามที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์คือ สมเด็จพระรามาธิบดินทร ฯ สมเด็จพระรามาธิบดี ฯ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชา ฯ และสมเด็จพระบรมราชา ทางฝ่ายพม่าเรียกว่า พระมหาธรรมราชา


ในรัชสมัยของพระองค์พุทธศาสนาเฟื่องฟูมาก พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในกรุงศรีอยุธยาและในบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดป่าโมก วัดหันตรา วัดภูเขาทอง และวัดพระราม โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมเศียรพระประธานวัดมงคลบพิตร ที่ชำรุดอยู่


ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาทางพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ผู้ที่ถวายตัวเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว


ในปี พ.ศ.2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองมาก จึงได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป เนื่องจากกษัตริย์ลังกาองค์ก่อน หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ และทำลายพุทธศาสนา จนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ในลังกา สมเด็จพระเจ้าบรมโกษ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูปคือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก 12 รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้งนิกายสยามวงศ์ขึ้นในลังกา หลังจากที่ได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เป็นเวลาเจ็ดปีแล้ว คณะสงฆ์คณะนี้บางส่วนได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2303


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2301พระชนมายุได้ 77 พรรษา ครองราชย์ได้ 26 ปี



ข้อมูลจาก
www.heritage.thaigov.net-



No comments:

Post a Comment